ในที่สุด “ทหาร” ก็ผ่าทางตันประเทศไทย… ด้วยการ “ยึดอำนาจ” จากรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของไทย เมื่อเวลา 16.30 น. ของวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศอยู่ในความสงบเรียบร้อยและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยตกอยู่ในอาการ “ร่อแร่” จากความแตกแยกทางการเมือง จนส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก แม้ว่าจะเป็นทางเดินที่สากลไม่ยอมรับก็ตาม  ทั้งนี้จากการแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกนั้นหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมากถึง 0.6%  และได้ปรับลดการคาดการณ์ตลอดทั้งปี 57 อีกเป็นครั้งที่ 3 โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 1.5-2.5% เท่านั้น ด้วยมูลค่าผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ที่ 12.424 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในครั้งที่ 2 ที่เชื่อว่าจีดีพีจะเติบโตได้ที่ 3-4% ด้วยมูลค่า 12.599 ล้านล้านบาท ตัวเลขจีดีพีที่หายไปกว่า 1.75 แสนล้านบาท นั้นแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ต้นตอของปัญหานอกจากจะเป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวลง ยังมีสาเหตุจากปัญหาการเมืองในประเทศที่ “เร่าร้อน” จนทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงความเชื่อมั่นของคนไทยทั้งประเทศ ที่สำคัญยังทำให้การเป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวหายไปจากความคิดของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะตัวเลขการเดินทางท่องเที่ยวต่างชาตินั้นลดลงมาก และเชื่อกันว่าตลอดทั้งปีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาเที่ยวไทยเพียงแค่ 26.3 ล้านคน โดยสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.24 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้กว่า 28.4 ล้านคน และสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.32 ล้านล้านบาท แต่ความวุ่นวายทางการเมือง ที่มีภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมาก มีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นจนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ศพ ขณะท่ีมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 782  คน ทำให้บรรดานักท่องเที่ยวทั่วโลก “ขยาดและหวาดกลัว” โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชีย ที่เลิกคิดเลิกวางแผนมาเที่ยวแดนสวรรค์แห่งการท่องเที่ยวอย่าง  “สยามเมืองยิ้ม” ไปแบบน่าเสียดาย ชนิดที่เรียกว่าอัตราเติบโตนักท่องเที่ยวต่างชาติแทบไม่เติบโตก็ว่าได้ ซึ่งภาวะเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับไทยมาก่อนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด… ในเวลานี้ที่จะกอบกู้เศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้คือ การเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาให้เร็ว รวมถึงเร่งหาเงินมาจ่ายคืนให้กับชาวนากว่า 4 ล้านครัวเรือนในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้ชาวนามีกินมีใช้ ชำระหนี้สิน ทำนาต่อไปได้ และยังต้องเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ไม่มีเงินเพียงพอในการใช้จ่าย  ขณะเดียวกันเมื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแล้ว ก็จำเป็นต้องอธิบายให้สังคมโลกหรือแม้กระทั่งประชาชนคนไทย ทั้งประเทศ รับรู้และเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และวิถีของการ “ยึดอำนาจ” ในครั้งนี้ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่น ก่อนที่นานาประเทศจะหมดความเชื่อถือในประเทศไทย ด้วยการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงไป หากแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้! จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ เครื่องยนต์ด้านการบริโภค และการลงทุน กลับคืนมาเพื่อหล่อเลี้ยงให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเริ่มหมุนเวียน จนในที่สุดเศรษฐกิจเริ่มผงกหัวขึ้นมาได้โดยไม่ดิ่งตกเหวอีก  แม้ว่าประชาชนคนไทยต่างเคยชินกับการปฏิวัติ การรัฐประหาร การยึดอำนาจจากฝ่ายบริหาร มาโดยตลอด แต่การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีหน้า ที่ไทยเป็น 1 ใน 10 ชาติอาเซียนต้องรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนหรือเอซีด้วยแล้ว หากการสางปัญหาการเมืองไม่แล้วเสร็จ จะยิ่งทับถมให้ไทยกลายเป็นเสือตัวสุดท้ายของอาเซียนก็เป็นได้   ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดานักวิชาการ เอกชน ผู้ประกอบการ ต่างออกมาเรียกร้องให้การ “ยึดอำนาจ” ในครั้งนี้ ต้องใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน เพื่อปฏิรูปประเทศในทุกด้านเสียใหม่ โดยเฉพาะการนำไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มสภาพตามวิถีประชาธิปไตย เข้ามาบริหารประเทศให้เดินหน้า ให้แข่งขันได้ ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป  ในเรื่องนี้ตัวแทนภาคเอกชนอย่าง “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. บอกว่า คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องมีเวลาทำงานไม่เกิน 6 เดือน และกำหนดการเลือกตั้งให้ชัดเจน และเมื่อเข้ามาแล้วต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น…เพราะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลออกมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ขณะนี้ชะลอตัวอย่างมาก ซึ่งในวิกฤติย่อมมีโอกาสที่ดีเสมอ ซึ่งการยึดอำนาจครั้งนี้เท่ากับว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ จึงต้องการให้ตั้งคณะทำงาน หรือรัฐบาลที่เข้ามาทำงานจริง ๆ เหมือนสมัยของ “นายอานันท์ ปันยารชุน” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ควรอยู่เพียงแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับ “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่เชื่อว่า การเข้ามายึดอำนาจของฝ่ายทหารไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจบลงได้แบบเบ็ดเสร็จ แต่เป็นเพียงการหาทางออกชั่วคราวเท่านั้น แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังต่อไป ในเมื่อทหารได้ยื่นมือเข้ามาแล้วการแต่งตั้งบุคคลต่าง ๆ เข้ามาเป็นรัฐบาลชั่วคราว ก็มีหน้าที่หลักคือปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน เพื่อล้างระบบคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปีจากนี้ เพื่อให้สากลมั่นใจว่าประเทศไทยยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ แต่การเข้ามาของฝ่ายทหารครั้งนี้ก็ต้องยอมรับกันให้ได้ว่าในช่วงแรก ๆ อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นโดยเฉพาะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับ คสช. ว่าจะชี้แจงเรื่องนี้ให้ต่างชาติเข้าใจได้มากน้อยเพียงใด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีแต่ผลในเชิงลบเท่านั้น เพราะในเชิงบวกแล้วเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศไทยไม่มีสุญญากาศทางการเมือง เพราะต่อจากนี้จะมีรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาดูแลที่สะท้อนว่าได้มีการใช้งบประมาณของภาครัฐเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตได้อีกอย่างน้อย 2-3% ขณะที่กระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ว่า หากปีนี้ยังไม่มีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศ จะทำให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวติดลบ นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมาก ทั้งการปิดกิจการของภาคเอกชนเพราะขาดทุน การเลิกจ้างงาน หนี้เสียของสถาบันการเงิน ประเทศถูกลดอันดับเครดิต นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ เช่นเดียวกับ สศช. ที่ได้ระบุว่าการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือจากนี้จำเป็นอย่างยิ่ง คือ การฟื้นฟูบรรยากาศทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการให้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่ถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์ รวมไปถึงการหามาตรการรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ณ เวลานี้ เศรษฐกิจไทยจะอยู่หรือไป อยู่ที่วิกฤติทางการเมืองว่าจะสามารถแก้ไขได้เร็วหรือช้า ดังนั้นจากนี้ไปจึงต้องจับตาวิธีผ่าทางตันประเทศของ คสช. ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงขึ้นหรือแย่ลง!. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ขีดเส้น 6 เดือนประเทศไทย ล้างบางการเมือง-เศรษฐกิจ

Posts related