สถิติฯ เผย เดือนส.ค.56 ประชากรในภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุด เมื่อเทียบอัตราการว่างงานในช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าอัตราการว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้น โดยประชาชน 55 ล้านคน อยู่ในสภาวะมีงานทำ
วันนี้ (14 ต.ค.) ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือน ส.ค. 56 พบว่า ผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 55.09 ล้านคน โดยเป็นผู้พร้อมที่จะทำงาน 39.31 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ  38.95 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.17 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 4.9 หมื่นคน ส่วนผู้ที่ไม่พร้อมทำงานได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชราจำนวน 15.78 ล้านคน   สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 38.95 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 16.22 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 22.73 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนส.ค.55 พบว่า ผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 2.4 แสนคน และนอกภาคเกษตรกรรมลดลง 3.5 แสนคน โดยลดลงในสาขาการก่อสร้าง 2.2 แสนคน สาขาขายส่งและการขายปลีก  การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 1.7 แสนคน สาขาการผลิต 1.3 แสนคน สาขาการขนส่งและสถานที่ เก็บสินค้า 1.1 แสนคน และสาขาการศึกษา 9.0 หมื่นคน ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้นคือสาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 1.4 แสนคน และสาขากิจกรรมทางด้านการเงินและการประกันภัย 4.0 หมื่นคน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ "พิจารณาถึงจำนวนผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ทำงานแต่ยังมีเวลาและพร้อมที่จะทำงานได้อีก หรือเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ จากผลการสำรวจพบว่า มีผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับ 3.59 แสนคน หรือ 0.9% ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีงานทำแล้วแต่ยังมีเวลาว่างที่มากพอและพร้อมที่จะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง" นายวิบูลย์ทัต กล่าว สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือนเดือนส.ค.56 มีทั้งสิ้น 3.17 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 55 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 9.3 หมื่นคน  แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.ค.56 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.8 หมื่นคน ซึ่งเมื่อพิจารณาจำนวนผู้ว่างงานตามประสบการณ์การทำงาน พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.44 แสนคน เพศชาย 6.3 หมื่นคน และเพศหญิง 8.1 หมื่นคน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 1.73 แสนคน เพิ่มขึ้น 7.7 หมื่นคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 55 โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการบริการและการค้า 1.04 แสนคน ภาคการผลิต 5.3 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.6 หมื่นคน ตามลำดับ ส่วนการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มเยาวชน อายุระหว่าง 15-24 ปี  มีอัตราการว่างงาน 3.7% ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ อายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการว่างงาน 0.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 55 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 2.6% เป็น 3.7%   แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.ค.56 กลุ่มเยาวชนมีอัตราการว่างงานลดลงจาก 3.9% เป็น 3.7% สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานในเดือนส.ค.56 พบว่า ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุด 1.44 แสนคน คิดเป็น 2.0% รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.3 หมื่นคน 1.1% มัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน 0.8% ระดับประถมศึกษา 3.9 หมื่นคน  0.4% และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.2 หมื่นคน 0.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 55 พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นในระดับระดับอุดมศึกษา 5.3 หมื่นคน มัธยมศึกษาตอนต้น 2.5 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1.2 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 8.0 พันคน ส่วนที่มีอัตราการว่างงานลดลงคือผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 5.0 พันคน นายวิบูลย์ทัต กล่าวว่า เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงาน เป็นรายภาค พบว่า ภาคใต้ มีอัตราการว่างงานสูงสุด 1.2% รองลงมาเป็น ภาคกลางและภาคเหนือ 0.9% กทม. 0.7% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.6%  เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับเดือนส.ค.55 พบว่าอัตราการว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้น และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาเป็น ภาคเหนือ สำหรับกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเท่ากัน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ข้อมูลสถิติฯ เดือนส.ค.ภาคใต้ครองแชมป์ว่างงาน

Posts related