บ้านสมเด็จโพลล์ ชี้ ประชาชนในเขตพื้นที่ กทม. จำนวน 51.3% ไม่เชื่อข้อมูลข่าวสารที่ได้รับผ่านอินเทอร์เน็ต ส่วนพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ในการสนทนานั้น แอพพลิเคชั่นไลน์ยังครองอับดับ 1 กว่า 50%
วันนี้( 17 ต.ค.) นายสิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ และประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Smartphone)  แท็บเล็ต (Tablet) และอินเทอร์เน็ต (Internet) ของประชาชนที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอินเตอร์เน็ต อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,437 คน เก็บข้อมูลในวันที่ 14 – 15 ต.ค 56
ในปัจจุบันพฤติกรรมของการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต ของคนในสังคมนั้นเป็นพฤติกรรมที่สามารถมองเห็นได้โดยทั่วไป ทำให้เห็นว่าการแพร่กระจายนวัตกรรม และการยอมรับนวัตกรรม ของคนในสังคมโดยเฉพาะในส่วนของโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย คนทำงาน รวมไปถึงผู้สูงอายุ ได้มีการเรียนรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนสภาพของสังคม
ทั้งนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์เกี่ยวกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต ของประชาชน ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือข้อมูลข่าวสารได้รับผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์ โปรแกรมสนทนา 51.3% รองลงมาคือเชื่อถือข้อมูลข่าวสาร 33.0% และไม่แน่ใจ  15.7% โดยส่วนใหญ่มีการใช้งานโปรแกรมสนทนา (Chat) อันดับ 1 คือไลน์ (LINE) คิดเป็น 50.4% อันดับ 2 คือ วอทแอป (WhatsApp)  23.7% อันดับ 3 คือวีแชท (WeChat) 8.3%
ส่วนการใช้งานโปรแกรมสังคมออนไลน์ (Social Networks) อันดับ 1 คือ เฟสบุ๊ค (FACEBOOK) คิดเป็น 41.4% อันดับ 2 คืออินสตาแกรม (Instagram)  18.9% อันดับ3คือกูเกิ้ล พลัส (Googel +) 13.5% นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยเฉลี่ยต่อวัน อันดับ 1 คือ 4 – 5 ชั่วโมง  29.4% อันดับ 2 คือ 3 – 4 ชั่วโมง 20.8% อันดับ 3 คือ 5 – 6 ชั่วโมง11.1% ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นใจในการซื้อสินค้า บริการ ผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์ โปรแกรมสนทนา 62.2% รองลงมาคือไม่แน่ใจ  21.1% และมั่นใจ  16.7%

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : คน กทม. เกินครึ่งไม่เชื่อข้อมูลข่าวสารผ่านสังคมออนไลน์

Posts related