นายสมศักดิ์  กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรทุกจังหวัดทั่วประเทศกว่า 2,346 ราย ช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ในหัวข้อระดับความสุขของเกษตรกรไทย พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีความสุขมวลรวมเพิ่มขึ้นด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.35 จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน คิดเป็น 88.6% ภายหลังได้รับเงินโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สะท้อนให้เห็นว่าหลังจากได้รับเงินแล้ว เกษตรกรมีสภาพคล่องในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีความหวังในอาชีพทำนามากขึ้นหลังจากรอคอยเงินในโครงการฯ มาไม่ต่ำกว่า 6-8 เดือน ส่งผลโดยตรงต่อระดับความสุขของเกษตรกรไทยภาพรวมอยู่ที่ระดับมากขึ้นกว่า 78.51% ทั้งนี้ เมื่อจำแนกความสุขมวลรวมตามอาชีพการเกษตรหลัก พบว่า เกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรหลักทุกประเภทมีความสุขมวลรวมอยู่ในระดับมาก โดยเกษตรกรที่ทำสวนผลไม้มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมสูงสุด เนื่องจากเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงฤดูกาลผลไม้ออกสู่ตลาด เกษตรกรมีรายได้ รวมทั้ง ในปีนี้ไม่ประสบปัญหาภาวะผลผลิตล้นตลาดจึงทำให้ได้ราคาที่ชาวสวนผลไม้พอใจ รองลงมาคือ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและเลี้ยงไก่เนื้อ โดยราคาอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยพอใจ ขณะที่ไก่เนื้อมีทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นภายหลังประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ยกเลิกมาตรการกีดกัน “ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้ทำการสำรวจความสุขของเกษตรกรไทย โดยวัดจากตัวชี้วัดความสุขใน 6 มิติ คือ ครอบครัวดี คะแนนเฉลี่ยมากที่สุด 3.41 คะแนน ตามมาด้วยสุขภาพดี 3.21 คะแนน สังคมดี 3.20 คะแนน การงานดี 3.14 คะแนน สุขภาพเงินดี 2.85 คะแนนและใฝ่รู้ดี 2.74 คะแนน โดยในแต่ละมิติมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก” อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้เกษตรกรมีระดับความสุขเพิ่มขึ้น ธ.ก.ส. ควรส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาเทคนิคการผลิต การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และการสนับสนุนให้มีการทำอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ซึ่งจะทำให้ดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพเงินดีและใฝ่รู้ดีมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสุขโดยรวมของเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. ควรส่งเสริมการมีอาชีพเสริมทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร โดยการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพระยะสั้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนจนสามารถยึดเป็นอาชีพที่สองได้ ที่สำคัญคือ ควรให้คำแนะนำด้านการตลาดเพื่อสร้างช่องทางการจำหน่ายและกระจายสินค้า  โดยภาครัฐและส่วนงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งมาตรการช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ อาทิ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ความสุขมวลรวมเกษตรกรพุ่ง

Posts related