ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการที่ถูกจับตามากที่สุดในแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือ โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ที่คสช.ได้ขอเวลาอีก 2 สัปดาห์พิจารณาว่า จะยกเครื่องโครงการลงทุนด้านน้ำ อากาศ ระบบราง และถนน ที่เคยกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ของอดีตรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้มากน้อยเพียงใด และจะเดินหน้าโครงการใดบ้าง ? ต้องยอมรับว่าเวลานี้ นาทีนี้ การเดินหน้าลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยหลังจากที่ซบเซามานานให้ผงกหัวฟื้นตัวขึ้นมาได้  เพราะนับตั้งแต่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อปลายปีก่อน เศรษฐกิจไทยต้องบอบช้ำมาตลอดจนเบื้องต้นได้คาดการณ์กันว่าในปีนี้ อาจเติบโตไม่ถึง 2% ก็เป็นไปได้ แถมยังเป็นอัตราเติบโตที่ต่ำที่สุดในกลุ่มชาติอาเซียน ที่สำคัญ…การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นสิ่งที่เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยในระยะยาว และเป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในอนาคตด้วย เพราะที่ผ่านมาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งของไทยล้าหลังมาก โดยเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม จัดอันดับศักยภาพขนส่งทางถนน ปรากฏว่า ไทยถูกจัดชั้นอยู่ในอันดับ 36 ของโลก เป็นรองสิงคโปร์ และมาเลเซีย ขณะที่ระบบรางของไทยหล่นไปถึงอันดับ 57 ของโลก ดังนั้นหากไทยไม่ลงทุนในช่วงนี้ อนาคตไปไม่รอดแน่นอน เพราะเวลานี้ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสปป.ลาว เมียนมาร์ หรือมาเลเซีย ต่างเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนในสิ้นปี 58 ทั้งนี้ตามแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามพ.ร.บ.ฉบับเดิม น้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระบบราง 1.5-1.6 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 70% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด มีโครงการสำคัญ เช่น รถไฟทางคู่ 3.83 แสนล้านบาท รถไฟความเร็วสูง 7.83 แสนล้านบาท รถไฟฟ้าสารพัดสาย 4.56 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นทางถนนที่มีมูลค่าลงทุน 2.4 แสนล้านบาท และที่เหลือเป็นการพัฒนาท่าเรือ สถานีขนส่งสินค้า  และอื่น ๆ  อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังจมไข้เช่นนี้ การตัดสินใจลงทุนใหญ่ทั้งหมดคงเป็นเรื่องยาก เพราะไทยยังมีอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อการลงทุน ที่แต่ละปีมีไม่เกิน 3 แสนล้านบาทเศษหรือประมาณ 16% ของงบประมาณทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบการลงทุนอีกสารพัด ทั้งการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ การเวนคืนที่ดิน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นภาพการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องมีการจัดอันดับความสำคัญ ทั้งด้านงบประมาณ กฎระเบียบ และบริบทอื่นด้วย ชงเดินหน้ารถไฟฟ้า7สาย แต่หากไม่มีการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน ประเทศไทยจะยิ่งดิ่งเหวจมลึกลงไปมากยิ่งขึ้น ดังนัั้นจึงเชื่อได้ว่าการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานจะเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ เพราะเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่แล้ว และได้มีการขอการจัดสรรงบประมาณและบรรจุวงเงินกู้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 58 รวม 7 โครงการ วงเงิน 62,600 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) 19,400 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) 3,940 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่) 6,590 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) 8,900 ล้านบาท, ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ 2,910 ล้านบาท, รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) 1,910 ล้านบาท และรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) 18,900 ล้านบาท รอเคาะรถไฟรางคู่-ขยายถนน ส่วนโครงการใหม่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เสนอโครงการทั้งการพัฒนาระบบ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ขยายถนนทางหลวง 4 เลน สถานีขนส่งสินค้า ปรับปรุงท่าเรือลำน้ำและชายฝั่ง ให้ คสช.พิจารณาแล้ว และ คสช. ก็ให้น้ำหนักไปที่การพัฒนาระบบรางเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างรถไฟทางคู่ เป็นโครงการที่มีโอกาสเกิดมากสุด เพราะระบบรางเดี่ยวแบบปัจจุบันมีความทรุดโทรม ล่าช้า และไม่ปลอดภัย การลงทุนรถไฟทางคู่ในระยะแรกใน 5 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ช่วงนครปฐม-หัวหิน, ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร วงเงินรวมกว่า 1.17 แสนล้านบาท รวมถึงจะมีการสร้างรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย เข้าไปเพิ่มเติมอีก เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าในเมืองที่จะเสนอเพิ่มเติมจากที่ดำเนินการไปแล้วอีก 3 สาย คือ สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 1.1 แสนล้านบาท กับสายสีชมพู แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท และในปี 59 จะเสนอเพิ่มอีกเป็นสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง อีก 4.8 แสนล้านบาท พัฒนาถนนเชื่อมต่อเพื่อนบ้าน ถัดจากระบบราง…ความสำคัญต่อมาคือการพัฒนาถนนทางหลวง และทางหลวงชนบท โดยเน้นขยายเส้นทางเชื่อมโยงพรมแดนกับเพื่อนบ้านลาว เมียนมาร์ กัมพูชา โดยขยายจาก 2 ช่องทาง เป็น 4 ช่องทางทั้งหมด  เพื่อเพิ่มตามปริมาณขนส่งสินค้าชายแดนที่เติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการทำถนนสายหลักที่เชื่อมโยงกับอาเซียนจากทิศเหนือ-ใต้ ทิศตะวันออก-ตะวันตก ตลอดจนซ่อมแซมทางหลวงสายหลัก การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แม่น้ำป่าสัก จ.พระนคร ศรีอยุธยา รวมถึงการสร้างท่าเรือปากบารา จ.สตูล และยังมีอีกหลายโครงการที่ไม่ต้องพึ่งงบประมาณลงทุนจากรัฐบาลโดยตรง เช่น โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3 ,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท ที่ค้างเติ่งมาหลายรัฐบาล การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเฟสสอง วงเงินกว่า 70,000 ล้านบาท ยังไม่ยุติไฮสปีดเทรน ส่วนโครงการที่หลายคนจับตามองมาก อย่างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง เรื่องนี้ คสช.ยังไม่ฟันธงว่าจะยุติ แต่มีโอกาสก่อสร้างน้อย เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงกว่า 7 แสนล้านบาท และมีความคุ้มค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับโครงการอื่น ๆ ที่จำเป็นเร่งด่วน แต่จะต้องจับตาแรงกดดันจากต่างชาติโดยเฉพาะจีนที่ต้องการให้ไทยสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยเร็ว เพื่อเชื่อมจากตอนใต้จีน ผ่านลาว มายังไทย ใช้เป็นเส้นทางขยายอิทธิพลสู่ชาติอาเซียน ซึ่งหากไทยยอมสร้างก็อาจได้รับอานิสงส์ด้านอื่นจากจีนมาช่วยสนับสนุนด้วยเช่นกัน นี่…เป็นเพียงโครงการลงทุนในเบื้องต้นเท่านั้น จากนี้ไปเชื่อได้ว่าคำถามจากสังคมที่จะเกิดขึ้น คงไม่แตกต่างจากรัฐบาลพลเรือนทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของความโปร่งใส ที่คนไทยทุกคนรอคำตอบ!!. ศักดิ์ชัย อินทร์จันทร์

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จับตาคสช.เดินหน้าลงทุน กระตุ้นศก.-คืนสุขคนไทย

Posts related