ณ วันนี้ ชื่อของ “สุพันธุ์  มงคลสุธี” ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) คงก้าวขึ้นแท่นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนที่ 14 แบบไม่พลิกโผแน่ หลังจากผลการเลือกตั้งคณะกรรมการ ส.อ.ท. ฝั่ง “สุพันธ์” ชนะ “วิศิษฎ์ ลิ้มประนะ” ผู้สมัครชิงตำแหน่งอีกรายแบบขาดลอย โดยในวันที่ 8 เม.ย.นี้ คณะกรรมการ ส.อ.ท.ชุดใหม่ จะลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกประธาน ส.อ.ท. กันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง   แม้บรรยากาศของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ออกอาการสะดุดหงุดหงิดกันไปบ้างในช่วงระหว่างวัน แต่สุดท้าย! ทุกอย่างสามารถจบลงด้วยภาพแห่งความปรองดอง โดยข้างผู้พ่ายแพ้ได้แสดงสปิริต ยอมรับผลการแข่งขัน พร้อมจับไม้จับมือแสดงความยินดีด้วยใจจริง ภาพที่ออกมา…เป็นความพยายามที่ทั้งผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้ ต้องการลบภาพความแตกแยกในองค์กรให้หมดสิ้น ที่สำคัญยังเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงของแต่ละฝ่าย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ส.อ.ท. ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นองค์กรเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแต่กลับมีความขัดแย้งมากที่สุดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แม้ภาพที่เกิดขึ้น จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ  ของการเริ่มต้นแห่งการกู้ภาพลักษณ์กลับคืนมาก็ตาม แต่ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดี เพราะต้องยอมรับว่า ส.อ.ท. ถือเป็นองค์กรเอกชนที่มีบทบาทสำคัญและเป็นหลักในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง  ภายใต้สมาชิกที่เป็นผู้ผลิต ภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก  มากกว่า  7,000–8,000 ราย  แต่ที่ผ่านมาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อองค์กรแห่งนี้กลับเต็มไปด้วยการถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองมาโดยตลอด ทำให้การทำหน้าที่การแสดงบทบาทขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจเป็นไปโดยลำบาก เห็นได้ชัดจากกรณี… นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท  ที่เป็นเรื่องใหญ่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เห็นถึงความแตกแยกขององค์กร จนสร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก ด้วยความไม่แข็งแกร่งของผู้นำองค์กร ที่ไม่กล้าปริปากคัดค้านนโยบายของรัฐบาล ที่สร้างความเสียหายให้กับเอกชนแท้จริง ได้แต่ปล่อยให้สมาชิกออกเสียงเรียกร้องด้วยตัวเอง  จนสุดท้ายต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึงปีละ 1.8 แสนล้านบาท “ปัญหาใหญ่ของ ส.อ.ท. ในเวลานี้คือ ผู้นำของ ส.อ.ท. มักเข้าใจบทบาทของตัวเองผิด ชอบคิดว่า ตัวเองเป็นองค์กรระดับชาติ ชอบทำอะไรที่ไม่ใช่หน้าที่ตัวเอง ทั้งที่หน้าที่หลัก คือ การดูแลสมาชิกทั้ง 7,000-8,000 ราย ซึ่งเป็นผู้มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ว่า  ได้รับความเดือดร้อนอย่างไร มีอะไรที่สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของสมาชิก โดยหลักแล้วต้องเป็นกระบอกเสียงให้กับสมาชิกโดยใช้รัฐบาลให้เป็น ไม่ใช่มารับใช้รัฐบาล จนสมาชิกต้องเดือดร้อน ที่สำคัญผู้นำส.อ.ท.ต้องมีวิสัยทัศน์ที่สามารถมองเห็นเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้าและหาทางส่งเสริมให้สมาชิกปรับตัวได้ทัน รวมทั้งตั้งทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่รู้ธุรกิจของตัวเอง ทำให้เวลาเจรจากับรัฐบาลไม่สามารถประเมินผลกระทบทั้งระบบได้” ผู้คร่ำหวอดภาคเอกชนระบุ  เรื่องนี้เชื่อได้ว่า…คน ส.อ.ท.ต่างรู้ดีถึงปัญหา ถึงภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด แม้แต่นายสุพันธุ์ ก็ตาม เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานายสุพันธุ์ ได้ออกตัวอยู่เสมอว่า พร้อมชนกับการเมืองในเรื่องที่ถูกต้อง ภายใต้ผลประโยชน์ของสมาชิก เพราะมองว่าการทำงานของ ส.อ.ท. ต้องเป็นเอกภาพ  ที่สำคัญกฎหมาย ส.อ.ท. ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ถ้าการเมืองจะเข้ามายุ่ง ก็ควรยุ่งลักษณะสนับสนุนการทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามในฐานะว่าที่ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่….“สุพันธุ์” จึงให้คำมั่นไว้ว่า จากนี้ไปการทำหน้าที่ผู้นำองค์กรนี้ จะมุ่งเน้นดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกอย่างจริงจัง ทั้งการสนับสนุนและการช่วยเหลือ  เพราะสมาชิก ส.อ.ท.ทั้งหมดมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะเดียวกันจะพิจารณาถึงนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่เอาแต่คะแนนเสียง จนทำให้เอกชนเดือดร้อนจนอยู่ไม่ได้  รวมไปถึงแต่งตั้งทีมวิชาการมาวิเคราะห์ข้อมูลให้ชัดเจน ทั้งเรื่องของแรงงาน การค้า การลงทุน การลดต้นทุนของผู้ประกอบการ หรือแนวทางที่ภาครัฐควรสนับสนุน ช่วยเหลือ ทั้งด้านโลจิสติกส์ พลังงาน ภาษี รวมถึงระบบที่ทำให้เกิดความยุติธรรมกับการแข่งขันกับต่างประเทศ การสนับสนุนการค้ากับต่างประเทศ รวมถึงดูแลภาคเอสเอ็มอี ที่เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากยังขาดการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือให้บริษัทขนาดใหญ่ จัดทีมมาดูแลเอสเอ็มอีให้มากขึ้น โดยในเดือน พ.ค.นี้ เตรียมจัดประชุมประธานกลุ่มอุตสาหกรรมและประธานอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบการรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ต่อไป   มาถึงจุดนี้…คงต้องรอดูว่าส.อ.ท.ภายใต้คณะกรรมการชุดใหม่ ภายใต้ผู้นำคนใหม่ จะสามารถสลัดภาพลักษณ์แห่งการถูกครอบงำจากการเมือง ภาพลักษณ์แห่งความแตกแยก ภาพลักษณ์แห่งการเรียกร้องผลประโยชน์ของตัวเอง ได้หรือไม่?. จิตวดี เพ็งมาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จับตาส.อ.ท.กู้ภาพลักษณ์ สลัดคราบแตกแยก-การเมือง

Posts related