ณ เวลานี้ ’เอสเอ็มอีไทย“ กำลังกลายเป็นคนไข้ที่อยู่ในอาการ ’โคม่า“ ทั้งที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการสำคัญของประเทศ แต่ที่ผ่านมาในทุกยุคทุกสมัยแม้จะให้ความสำคัญกับการรักษาอาการป่วยของเอสเอ็มอี แต่ปรากฏว่าการรักษากลับเป็นแบบ ’ขอไปที“ ด้วยเหตุที่ว่าผู้ที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองกลับให้ความสำคัญกับเรื่องการประสานประโยชน์ในเชิงการเมือง มากกว่าการเข้ามาดูแลรักษาเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง แม้ว่าจะออกจะขนสารพัดมาตรการมาช่วยเหลือก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วเอสเอ็มอีไทย…ยังไม่พ้นปากเหว ต้องล้มหายตายจากไปหลายแสนราย ส่วนที่เหลือก็ใช่ว่าจะแข็งแรง เพราะต้องกู้หนี้ต้องยืดหนี้กันจ้าละหวั่น เห็นได้ชัดจากสัญญาณของบรรดาสถาบันการเงิน ที่ออกมาระบุตรงกันว่า ตั้งแต่ไตรมาสแรก ปี 57 เป็นต้นมา สัดส่วนหนี้เสียของลูกค้าเอสเอ็มอี ค้างจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หนี้ครัวเรือนก็พุ่งทะยานถึง 82% ขณะที่การหันไปกู้ยืมนอกระบบก็มีอีกเป็นจำนวนมาก จนมาถึงยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. ได้ให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีและประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมผ่าตัดองค์กรที่ดูแลเอสเอ็มอีโดยตรง อย่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.ใหม่ พร้อมเข้าไปนั่งบัญชาการเองในฐานะประธานบอร์ด สสว.สั่งทุกหน่วยงานระดมสมองจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ซึ่งเตรียมประกาศอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ หัวใจสำคัญดันเศรษฐกิจ  เป้าหมายกู้ชีพเอสเอ็มอีครั้งนี้ เพราะหัวหน้า คสช. มองว่าเอสเอ็มอี เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีกว่า 2.78 ล้านรายคิดเป็น 98% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 11.7 ล้านคน คิดเป็น 80.4% ของการจ้างงานทั้งหมดสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 37% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)  ยังพัฒนาไร้ทิศทาง   ต้องถือได้ว่าเป็นการผ่าตัดยกเครื่องเอสเอ็มอีครั้งใหญ่ที่สุดเพราะหัวหน้า  คสช.ที่เปรียบเหมือนหัวหน้ารัฐบาลลงมากำกับดูแลเอง จากที่ผ่าน ๆ มาแม้ตำแหน่งประธานบอร์ด สสว.จะเป็นนายกรัฐมนตรีแต่กลับให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับแทนทุกครั้งทำให้มาตรการส่งเสริมต่าง ๆ ไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควรมีแต่นามธรรม ไม่เป็นรูปธรรมไม่มีผลชี้วัดโดยเฉพาะสิ่งที่พูดกันมาอย่างยาวนานแทบจะทุกยุคทุกสมัยเป็นสิบปีคือ การแก้ปัญหาเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตแต่ทำไม เมื่อไปสอบถามปัญหาของเอสเอ็มอี ณ เวลานี้ ก็ยังย่ำอยู่แต่ปัญหาแบบเดิม ๆ เท่ากับว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมา “ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”  ตปท.หนุนเอสเอ็มอี  ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งให้ความสำคัญผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระดับสูงสุด เช่น สหรัฐอเมริกา ให้หน่วยงานส่งเสริมเอสเอ็มอีขึ้นตรงกับประธานาธิบดี และปัจจุบันผู้นำของหน่วยงานที่ดูแลเอสเอ็มอีตรงจะเป็นสมาชิกในคณะรัฐมนตรีของสหรัฐ, ญี่ปุ่นประกาศให้เอสเอ็มอีเป็นทรัพย์สมบัติแห่งชาติมีการส่งเสริมให้ เอสเอ็มอีออกไปลงทุนในต่างประเทศถึงขนาดตั้งนิคมเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (เอสเอ็มไอ) ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย “ศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล” รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานเอสเอ็มไอระบุว่า สถิติทั่วโลกพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว เอสเอ็มอีจะต้องมีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นจำนวน 50% ของจีดีพีขึ้นไป แต่ขณะนี้ของไทยอยู่ที่ 37% เท่านั้นทั้งที่ก่อนหน้าปี 40 มีสัดส่วนสูงถึง 42% จึงมีแนวทางส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้สูงถึง 50% ของจีดีพีเพื่อให้เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกับภาคการส่งออกหรือภาคการบริโภคในประเทศรวมทั้งเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีจากรายย่อยสู่ระดับกลางเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ทางเอสเอ็มไอได้เสนอแผนส่งเสริมตามเป้าหมายแบ่งเป็น 3 ระยะ ซึ่งที่ประชุมบอร์ด สสว.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์รับทราบแล้ว คือ ระยะสั้น ภายใน 6 เดือน-1 ปี  เช่นสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่ง คสช.ดำเนินการแล้วกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนย้าย สสว.มาอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีจากปัจจุบันอยู่กระทรวงอุตสาหกรรมขณะนี้มีความเป็นไปได้สูง รวมทั้งแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เอสเอ็มอี เช่น ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เอสเอ็มอีชั้นดีเหลือ 4% ตั้งศูนย์บริการเอสเอ็มอีครบวงจรในหลายพื้นที่สำคัญ ระยะกลาง ภายใน 2-3 ปี เช่นการจัดทำดัชนีวัดผลงานเอสเอ็มอี (เคพีไอ)ให้ชัดเจนพร้อมทั้งรายงานผลเป็นรายไตรมาส,จัดตั้งศูนย์บริการอาเซียนเอสเอ็มอีในไทยรวมทั้งให้จัดประชุมอาเซียนเอสเอ็มอี เอกซโป ทุกปีเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจ จัดทำ เอสเอ็มอี สกอร์ริ่งหรือการให้คะแนนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระยะยาว ภายใน 3-5 ปี จัดระบบเครดิตเรตติ้ง ซิสเต็ม ของเอสเอ็มอีให้แยกออกจากบริษัทขนาดใหญ่เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น,  จัดทำระบบการจัดอันดับความน่าเชื่อของเอสเอ็มอี, เพิ่มช่องทางการเรียนรู้เกี่ยวกับเอสเอ็มอีในมหาวิทยาลัย, แอพพลิเคชั่นเอสเอ็มอี, ตั้งเอสเอ็มอีคอมเพล็กซ์, นิคมฯ เอสเอ็มอี, กองทุนส่งเสริมการขยายธุรกิจเอสเอ็มอีในต่างประเทศ งานหินยกระดับเอสสู่เอ็ม   โจทย์ใหญ่…ที่ต้องตีให้แตกคือ จะทำอย่างไรที่จะหาแนวทางการส่งเสริม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียกระดับประสิทธิภาพของตัวเองให้ขึ้นมาให้ได้เพราะทุก วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยที่มีกว่า 2.76 ล้านรายเป็นขนาดเล็ก (เอส) สูงถึง 2.7 ล้านราย เป็นขนาดกลาง (เอ็ม) 13,274 ราย เป็นขนาดใหญ่ (อี) 7,349 รายแต่ส่วนใหญ่การส่งเสริมจากภาครัฐจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มขนาดกลางและขนาดใหญ่มีสัดส่วนจ้างงานไม่ถึง 20% ขณะที่กลุ่มขนาดเล็กกลับเข้าถึงการส่งเสริมได้น้อยมาก  ขณะเดียวกันยังมีผลวิเคราะห์ของหน่วยงานสากล ระบุว่า เอสเอ็มอีที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้จะต้องมีขนาดกลางขึ้นไป  สุดท้าย….คงต้องรอดูว่ายุทธศาสตร์ส่งเสริมเอสเอ็มอีฉบับ “ท็อปบู๊ต” จะยกระดับการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดเล็กให้ไปสู่ระดับกลางให้ได้อย่างไร? เพราะนี่แหละ คือตัวชี้วัดที่สำคัญในการยกระดับเอสเอ็มอี เป็นวาระแห่งชาติ. จิตวดี เพ็งมาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จับตาอนาคตเอสเอ็มอีไทย หลังคสช.ดันวาระแห่งชาติ

Posts related