ในที่สุด “โครงการรับจำนำข้าว” ที่รัฐบาลคุยนักคุยหนาว่าเป็นการยกระดับชีวิตชาวนา ก็เดินมาถึงทางตัน เพราะรัฐบาลไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าข้าวให้กับชาวนา หลังจากที่ตลอด 2 ปี 4 รอบการผลิตที่ผ่านมาต้องใช้เงินไปแล้วเกือบ 7 แสนล้านบาท  ที่สำคัญโครงการนี้ยังเกิดปัญหาอีกสารพัดปัญหา สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องแม้แต่ตัวของชาวนาเองเพราะจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว ขณะที่ผู้ที่อยู่ในระดับนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติก็เริ่มที่จะถูกดำเนินคดีเป็นหางว่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นในระดับรัฐมนตรี ระดับอธิบดี และระดับเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก็ต้องถูกดำเนินการไต่สวนจาก ป.ป.ช. เช่นกัน เพราะก่อนหน้าที่ได้ทราบถึงข้อท้วงติงและความเสียหายในการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว แต่กลับละเลยไม่ดำเนินการระงับหรือยับยั้งแต่อย่างใด จำนำข้าวเจ๊งยับ  สำหรับความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดขึ้นจริงแล้ว และเป็นไปตามที่หลายฝ่ายตักเตือนคงหนีไม่พ้นทั้งเรื่องการขาดทุนมหาศาลในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท การทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ความสามารถการส่งออกข้าวไทยลดลง เพราะต้นทุนสูงกว่าตลาดโลกจนข้าวล้นโกดังในหลายพื้นที่ รวมไปถึงเกิดการนำข้าวจากเพื่อนบ้านมาลักลอบสวมสิทธิในโครงการรับจำนำข้าว ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ…คุณภาพข้าวของไทยลดลงเพราะชาวนาจะเร่งผลิตข้าวออกมาให้มากที่สุดโดยให้ความสนใจเรื่องคุณภาพข้าวไม่มากนัก ผลพวงจากการคอร์รัปชั่นในโครงการและการขาดทุนอย่างมหาศาล ทำให้ไทยต้องประสบปัญหาฐานะการคลังทันทีเนื่องจากเงินส่วนใหญ่มาจมอยู่กับการรับจำนำข้าวเป็นหลักและในอนาคตทำให้รัฐบาลอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายงบประมาณสมดุลในปี 60 และอาจส่งผลกระทบต่อการลดเครดิตของประเทศไทยก็เป็นได้ ทั้งนี้เรื่องฐานะการคลัง เห็นได้จากชาวนาจำนวนเป็นแสนเป็นล้านครอบครัวที่ไม่ได้รับเงินจากโครงการ ทั้งที่ชาวนาได้นำข้าวเข้าไปจำนำและได้ใบประทวนมาแล้วบางรายต้องรอ 3-4 เดือนแล้ว ยังไม่ได้เงิน เห็นส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็กรายย่อยต่างชาติบางรายที่มีความใกล้ชิดกับนักการเมืองอาจได้รับเงินก่อน สุดท้ายจึงเห็นภาพการประท้วงของชาวนาเริ่มมีมากขึ้น รวมถึงมีกระแสข่าวดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติที่ไม่สามารถหาเงินจ่ายให้ชาวนาได้ตามกำหนด ชาวนาจี้รัฐจ่ายเงิน สาเหตุที่ชาวนาต้องกดดันรัฐบาลทุกวิถีทาง เพราะยอมรับว่าเมื่อขายข้าวแล้วแต่ไม่ได้เงิน ทำให้ชาวนาจำนวนมากต้องไปกู้เงินอีกรอบเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับ “ประสิทธิ์ บุญเฉย” นายกสมาคมชาวนาไทย ที่เห็นว่าชาวนาเดือดร้อนมาก เพราะขณะนี้เจ้าของร้านปุ๋ยและยาฆ่าหญ้า เริ่มทยอยทวงหนี้เข้มข้นขึ้น หากชาวนารายใดจ่ายช้าเกินกำหนด จะถูกคิดเบี้ยเพิ่มอีก 1% เป็น 4% ต่อเดือน ขณะเดียวกันยังพบว่าเจ้าของที่ดินยังทวงหนี้ค่าเช่ามากขึ้นเช่นกัน โดยปกติจะมีการคิดค่าเช่า 1,500-2,000 บาทต่อไร่  แต่หากไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ในฤดูผลิตข้าวครั้งต่อไป เจ้าของที่ก็จะให้คนอื่นเช่าแทนเพราะมีหลายรายที่รอคิวในการขอเช่าพื้นที่ในการทำนา ทั้งนี้นอกจากจะมีการกู้เงินแล้ว ชาวนาหลายรายยังมีการนำใบประทวนไปจำนำหรือเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้กับเจ้าหนี้เงินกู้ หรือแม้แต่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วแต่ละพื้นที่จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด โดยในส่วนของเจ้าหนี้เงินกู้ อาจให้เงินในอัตราสูงถึง  50% ของราคาใบประทวน ส่วน ธ.ก.ส. จะให้เงินเฉพาะที่เป็นลูกค้าประมาณ 20% ของมูลค่าใบประทวน หน่วยงานรัฐหาเงินวุ่น อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวนาเจ็บช้ำน้ำใจมากกว่านี้คือ…เมื่อชาวนามีการทวงเงินกันแบบเข้มข้นมากขึ้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับโยนความรับผิดชอบกันไปมา ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ขายข้าว กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณผู้ดูแลเงินงบประมาณ หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงิน จนไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ที่อาจต้องตกเป็น “แพะ” รับกรรมกับเรื่องนี้ก็เป็นไปได้ทั้งนี้จากการตรวจสอบสถานการณ์ทางการเงินที่ต้องนำมาจ่ายพบว่า ธ.ก.ส.มีเงินที่ได้รับชำระคืนจากกระทรวงพาณิชย์และเงินงบประมาณแผ่นดินที่ได้จัดสรรให้ในปีงบ ประมาณ 57 เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 56/57 รวมทั้งสิ้น 54,950 ล้านบาท  โดยได้จ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาไปแล้วจำนวน 245,944 ราย คิดเป็นข้าวเปลือกที่ส่งมอบ 2 ล้านตัน วงเงิน 31,543 ล้านบาท และช่วงนี้ ธ.ก.ส. ได้เร่งรัดการจ่ายเงินจำนำข้าวที่เหลืออีก 23,407 ล้านบาท ที่คาดว่าจะช่วยชาวนาได้อีกกว่า 200,000 ราย คิดเป็นจำนวนข้าวเปลือกที่ส่งมอบ 1.5 ล้านตัน ล่าสุด…มีข้าวขึ้นใบประทวนไว้แล้ว 150,000 ล้านบาท เท่ากับว่ายังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินกว่า 100,000 ล้านบาท  และยังไม่รวมข้าวที่เข้าโครงการเพิ่มเติมจนถึง 28 ก.พ.57 ที่คาดว่าจะมีเพิ่มมาอีก 40,000 ล้านบาท รวมเงินที่ต้องจ่ายจำนำรอบหนี้ 190,000 ล้านบาท แต่ ธ.ก.ส.จ่ายได้เพียง 50,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องวิ่งหาเงินมาให้ ธ.ก.ส.จ่ายอีก 140,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นวิธีให้ ธ.ก.ส. นำเงินฝากของประชาชน 55,000 ล้านบาท สำรองจ่ายชาวนาไปก่อน สุดท้ายสหภาพแรงงานฯ ธ.ก.ส.ไม่ยอมเพราะมองว่า จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าธนาคารและผิดต่อกฎหมายด้วยเนื่องจากธนาคารไม่ได้มีหน้าที่หาเงินมาจ่ายในโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งมีการจี้ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งนำเงินจากการขายข้าวไปคืนธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการเท่านั้น หรือแม้แต่แนวทางให้ใช้เงินที่เป็นเงินฝากของรัฐวิสาหกิจมาฝากคาดว่าจะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับจ่ายจำนำข้าวโดยเฉพาะ สุดท้ายหน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องทำหนังสือถึง กกต. ให้ในการขายข้าวในสต๊อกให้กับต่างประเทศ หรือแม้แต่ในการทำเรื่องของกู้เงินเพิ่มอีก 130,000 ล้านบาทต่อ กกต. ในการนำเงินมาจ่ายหนี้ให้กับชาวนา ถือเป็นวิบากกรรมของชาวนาจริง ๆ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมานาน ทั้งจากการถูกกดราคาข้าวให้ต่ำทั้งจากนายทุน หรือนักการเมือง ยิ่งในตอนนี้ลูกหนี้รายใหญ่ของชาวนาอย่างรัฐบาลกลับไม่มีเงินจ่ายนับเป็นเงินแสนล้านบาท ดังนั้นถือเป็นบทเรียนของรัฐบาลต่อ ๆ ไป ในการช่วยเหลือชาวนาที่ควรเน้นเพิ่มศักยภาพ และลดต้นทุนทั้งระบบ ไม่ใช่หวังเพียงแค่ขยายฐานเสียงเท่านั้น เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าว “ผู้เสียภาษี” ต้องเป็นคนรับผิดชอบ!. มนัส แวววันจิตร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จำนำข้าว…บักโกรกซ้ำซาก เคราะห์ซ้ำกรรมซัดชาวนาไทย

Posts related