น.ส.บุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสมาคมได้ยื่น 11 มาตราการ เพื่อขับเคลื่อนดัชนีสมาคมค้าปลีกไทยให้กลับมาเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6-7% แก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาเผชิญกับปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเติบโตไปเพียง 4.6% ทั้งนี้ 11 มาตราการ ประกอบด้วย เสนอให้จัดตั้งกระทรวงพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เพราะปัจจุบันผู้ดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องในธุรกิจค้าปลีกมีปริมาณสูงถึง 85% ของผู้ประกอบการทั้งหมด, เร่งหามาตราการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน, รัฐบาลควรให้การสนับสนุนการขยายตัวของภาคค้าปลีกอย่างชัดเจน เนื่องจากภาคค้าปลีกสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากเป็นอันดับสอง หรือ 14% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) , ยกเลิกภาษีเงินกำไรจากการลงทุนในต่างประเทศ ส่งเสริมให้นักลงทุนนำเงินกลับประเทศ, ลดภาระค่าครองชีพ ด้วยการตรึงราคาสินค้าจำเป็น ขณะเดียวกันได้รวมถึง การส่งเสริมการค้าชายแดน รวมถึงอำนวยความสะดวกด้วยการเปิดหน้าด่านและพัฒนาเส้นทางขนส่งเพื่อให้ส่งสินค้าได้รวดเร็ว, สร้างความเชื่อมั่นเรียกบรรยากาศการจับจ่ายและการลงทุน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว, ลดราคาภาษีสินค้าหรูให้เหลือ 0-5% จากปัจจุบันที่ 25-40% เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและพัฒนาไทยเป็นจุดมุ่งหมายในการท่องเที่ยวแบบครบวงจร, ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน ให้เกิดการแข่งขัน สร้างรายได้เพิ่มให้ประเทศ, รัฐบาลควรให้การสนับสนุนผู้ค้าปลีกไทยในการลงทุนในต่างประเทศ และเสนอให้ตั้งหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการออกใบอนุญาตทั้งหมดให้เสร็จขั้นตอนเดียว “ช่วงครึ่งปีหลังภาคค้าปลีกน่ากลับมาเติบโตได้ดีขึ้นจากการสนับสนุนของคสช. ประกอบกับแนวโน้มโดยรวมที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยจะเห็นได้ชัดในไตรมาส4 ซึ่งภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยส่งเสริมหลัก รวมถึงการอนุมัติงบการลงทุนภาครัฐฯในปี58 ที่กำลังจะออกมา ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีความมั่นใจและเดินหน้าลงทุนอีกครั้ง ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ กระตุ้นให้ธุรกิจค้าปลีกกลับมาคึกคัก” ทั้งนี้ใน6 เดือนที่ผ่านมาภาพรวมดัชนีสมาคมค้าปลีกไทยเติบโตเพียง 4.6% จากการชะลอการจับจ่าย เพราะบรรยากาศภายในประเทศไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้การบริโภคสินค้าไม่คงทน หรืออาหาร เติบโต 5.0% จากปีก่อนที่เติบโต 4.5% ซึ่งเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นจากอัตราการบริโภคปีก่อนที่หดตัวลงจากปกติ สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำรวมถึงเกษตรกรว่ายัง ไม่ฟื้นตัว โดยอาจมาจากราคาผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ประกอบกับภาระหนี้สินของครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชง11มาตรการกระตุ้นค้าปลีกเติบโต

Posts related