วันนี้(8 ส.ค.) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร.เปิดเผยว่า ในช่วงวันแม่ในเดือน ส.ค. จะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจคือในคืนวันที่ 10 ส.ค.เวลาประมาณ 00.46 น.ตามเวลาในประเทศไทย ดวงจันทร์จะโคจรมาเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตร ประกอบกับเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี คนบนโลกจึงสามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติประมาณ 10% โดยปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกคนทั่วไปมักเรียกว่า ซูเปอร์มูน (Supermoon) ซึ่งมีผู้นิยามว่าหมายถึง ดวงจันทร์เต็มดวงที่มีระยะห่างจากโลกน้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร เกิดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13ก.ค.57 ที่ระยะห่าง 358,258 กิโลเมตร แต่ในคืนวันที่ 10 ส.ค.นี้ดวงจันทร์เต็มดวงจะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตรจึงเรียกว่า ซูเปอร์ ฟูล มูน(Super Full Moon)“การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกและโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ทำให้ทิศทางของแรงกระทำต่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ดังนั้นการที่คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่มีวงโคจรมาใกล้โลก นับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และไม่มีผลกระทบรุนแรงใดๆต่อโลก” ดร.ศรัณย์กล่าวนอกจากนี้ช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 12 ส.ค.ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 ส.ค.57 เวลาประมาณ 01:00-04:00 น.จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) และกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีจำนวนดาวตกที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าถึง 75-100 ดวงต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายว่าในเดือน ส.ค.พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นช่วงกลางฤดูฝนและในคืนวันที่ 12 ส.ค.57 มีแสงจันทร์รบกวนทำให้สภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์อาจทำให้ในปีนี้ไม่สามารถมองเห็นฝนดาวตกมากเท่าที่ควร.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชวนชมดวงจันทร์โตสุดในรอบปี-ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ช่วงวันแม่

Posts related