ข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้ง ปริมาณฝนมากที่สุดของปี อยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน โดยพื้นที่ฝนมากส่วนใหญ่ อยู่ด้านหน้าทิวเขา หรือด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ขณะนี้ช่วงฝนชุกเดือนแรก กำลังจะผ่านไป ความเสี่ยงที่จะเจอฝนชุกเหลืออีก 1 เดือน การคาดหมายอากาศล่าสุด กรมอุตุฯระบุว่า ในสัปดาห์นี้ ช่วงวันที่ 25-28 ส.ค.จะมีฝนชุก ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้ จะเจอหนัก ๆ วันที่ 28-30 ส.ค. ซึ่งต้องระวัง ทั้งฝนที่จะตกกระหน่ำเฉพาะหน้า และคอยดูฝนที่ตกสะสมต่อเนื่องว่าจะผสมโรงให้เกิดน้ำท่วมไหม ความรู้ทั่วไปที่กรมอุตุฯ แจงไว้บนเว็บไซต์ ในช่วงต่อจากนี้ พื้นที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะมีปริมาณฝนมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยฝนมากที่สุดในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดี ฝนที่ตกชุกหนาแน่นช่วงนี้ หากนำสถิติย้อนหลังมาเทียบเคียง จะพบว่ายังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอีกเยอะ เช่นในกรุงเทพมหานคร ก็ต่ำกว่าตั้ง 52 เปอร์เซ็นต์ บางจังหวัดที่เคยมีปัญหาน้ำท่วม มาคราวนี้มีฝนน้อยจนน่าใจหาย อย่างเช่น ที่ อ.สูงเม่น และอ.เด่นชัย จ.แพร่ แม้อยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ปีนี้ ตกน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้เกิดปัญหาท่าทีขัดแย้งในการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานแม่ยมฝั่งขวาตอนล่าง.. ต้องจัดรอบเวรส่งน้ำ เพื่อกระจายน้ำให้มีใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ถึงช่วยลดความขัดแย้งที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรง ให้จบลงด้วยความเข้าใจอันดี ทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม ที่น้ำต้นทุนส่วนใหญ่จะมาจากฝายแม่ยม จะเห็นได้ว่า แม้ยังอยู่ในฤดูฝน และเป็นระยะชุกหนาแน่น ยังมีปัญหาน้ำน้อย จนต้องจัดเวรแบ่งปันกันใช้ น่าห่วงว่าฤดูแล้งที่จะมาถึง อีก 3–4 เดือนข้างหน้า จะรุนแรงขนาดไหน สถานการณ์น้ำในเขื่อนที่เหลือน้อยระดับวิกฤติหลายแห่ง เขื่อนน้ำน้อยวิกฤติหลายแห่ง โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) แจกแจงไว้ว่า เขื่อนอุบลรัตน์ ใช้การได้ 4%, เขื่อนภูมิพล ก็ 4%, เขื่อนทับเสลา 6%, เขื่อนลำพระเพลิง 7%, เขื่อนจุฬาภรณ์ 7%, เขื่อนแม่กวง 8%,เขื่อนสิริกิติ์ 12%, อ่างเก็บน้ำบางพระ มี 13%, เขื่อนศรีนครินทร์ 13%,เขื่อนคลองสียัด 14% มากที่สุด ที่เขื่อนวชิราลงกรณ มี 17% เวลานี้จึงเป็นช่วงฝนชุก ที่ต้องคำนึงถึงหน้าแล้งให้มากที่สุด ต่อจากนี้ถึงจะตกหนักแค่ไหน ก็เสี่ยงจะไม่พอใช้อยู่ดี. หยาดน้ำฟ้า

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ช่วงฝนชุก – รู้หลบ

Posts related