เป็นเรื่องเป็นราวมานานร่วมครึ่งเดือน สำหรับปัญหาช่อง 3 ระบบอนาล็อก กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่มีมติสั่งโครงข่ายดาวเทียม และเคเบิลทีวี ห้ามนำช่อง 3 อนาล็อกออกอากาศ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนที่รับชมทีวีผ่านจานยี่ห้อต่าง ๆ และเคเบิล มากกว่า 70% ต้องวิตกกังวลว่า จะไม่สามารถรับชมช่อง 3 อนาล็อก โดยเฉพาะบรรดาคอละครที่ร่ำ ๆ กันว่า หวั่นจะไม่ได้ดูพระเอก นางเอกในดวงใจ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงส่อเค้าวุ่นวาย และกลายเป็นกระแสสังคมที่งัดกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมาสู้กัน ทำให้ล่าสุดวันที่ 17 ก.ย. นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นบอร์ด กสทช.จำนวน 10 คนมีทั้งกรรมการ ฝั่งโทรคมนาคม และฝั่งวิทยุ-โทรทัศน์ จะร่วมพิจารณาหนังสือร้องจากบิ๊กบอสช่อง 3 นายประวิทย์ มาลีนนท์ ที่เดินทางมายื่นขอให้ทบทวนมติที่ส่งผลให้ช่อง 3 อนาล็อกจอดำ ด้วยตนเองเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มาลุ้นกันว่าบอร์ด กสทช.จะรับข้อทบทวน 3 ข้อหรือไม่?  ได้แก่ 1. ขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กสท. เมื่อวันที่ 8 ก.ย.57 ที่ระบุให้ ผู้ประกอบการโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี ยุติการนำช่องอนาล็อกมาออกอากาศ ภายใน 15 วันนับจากได้รับหนังสือคำสั่งจาก กสทช.  2. ให้ทบทวนมติ กสท. เมื่อวันที่ 3 ก.พ.57 ที่มีคำสั่งให้ช่องอนาล็อกยุติการเป็นฟรีทีวี และ 3. ขอให้ กสทช.คุ้มครองและเยียวยาระหว่างที่มีการพิจารณาโดยให้ช่อง 3 สามารถออกอากาศได้จนกว่าจะมีข้อยุติ  เมื่อเท้าความกลับไป ทำไมช่อง 3 อนาล็อกกำลังจะประสบปัญหาจอดำบนดาวเทียม และเคเบิล  เนื่องจากช่องฟรีทีวีเดิม 6 ช่อง (ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 และช่องไทยพีบีเอส) ซึ่งถือเป็นผู้รับใบอนุญาตตามบทเฉพาะกาลแห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้สิ้นสุดการทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือฟรีทีวี นับจากวันที่ทีวีดิจิตอล เริ่มออกอากาศแล้ว 30 วัน ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 28 พ.ค.57 จากนั้น กสท.ได้ลงมติต่อขยายให้อีก 100 วัน (เนื่องจากเป็นช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารงานของประเทศ และเป็นช่วงของการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และฟรีทีวีเดิมถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะเข้าถึงการรับชมของประชาชน)  หลังจากนั้นวันที่ 1 ก.ย. 57 กสท. ไม่มีการขยายระยะเวลา จึงถือว่าเป็นวันสิ้นสุดการทำหน้าที่ฟรีทีวีของทั้ง 6 ช่องนั้น ส่งผลให้ดาวเทียมและเคเบิล ไม่จำเป็นต้องนำฟรีทีวีเหล่านี้ไปออกอากาศ บนโครงข่ายดาวเทียม เคเบิล แต่ฟรีทีวีเดิมทั้ง 5 ช่อง (ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 และช่องไทยพีบีเอส) ได้ขออนุญาตออกอากาศคู่ขนานโดยสามารถนำผังรายการทั้งหมดยกไปออกคู่ขนานในระบบดิจิตอลบนช่องที่ประมูลได้มา พร้อมทั้งสามารถรับชมผ่านเสาอากาศ หนวดกุ้ง ก้างปลา กล่องดิจิตอล รวมถึงดาวเทียม เคเบิล  ยกเว้นช่อง 3 ที่ไม่ยอมออกอากาศคู่ขนานในช่องที่ตนเองประมูลมาได้ 3 ช่อง คือ ช่อง 3 SD หมายเลข 28 ช่อง 3 HD หมายเลข 33 และช่อง 3 Family หมายเลข 13 ทำให้ช่อง 3 อนาล็อกรับชมได้เฉพาะเสาอากาศ หนวดกุ้ง ก้างปลา ตามสัญญาสัมปทานเดิมปี 2563 เท่านั้น  นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า แนวทางการพิจารณาของที่ประชุมกสทช. ในวันที่ 17 ก.ย.นี้จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น หาก กสทช. รับไว้พิจารณาอาจจะต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลในส่วนเหล่านี้ หรือแม้กระทั่งให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายเป็นผู้พิจารณา หรือ กสทช.อาจจะไม่ทบทวนเรื่องนี้เลย  อย่างไรก็ตามประตูทางออกจะเปิดไปทิศทางไหน สุดท้ายสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ผู้รับชมมากกว่า 70 % ที่รับชมผ่านดาวเทียม เคเบิล ไม่ได้รับผลกระทบ ช่อง 3 กสทช. กสท. จะเคลียร์กันลงตัวหรือไม่ รู้กัน. ชี้แจงช่อง 3 นายประวิทย์ มาลีนนท์ ช่อง 3 ยืนยันว่าจะพยายามไม่ให้ช่อง 3 อนาล็อกเกิดจอดำ  ในขณะที่ผ่านมายืนยันว่าไม่ออกคู่ขนานแน่นอน เพราะตามสัญญาสัมปทานสามารถออกอากาศระบบอนาล็อกไปจนถึงปี 2563 โดยได้ชี้แจงว่า ช่อง 3 อนาล็อก กับช่อง 3 ดิจิตอลที่ประมูลได้มา 3 ช่องเป็นคนละบริษัทและไม่สามารถนำเอาช่อง 3 อนาล็อกมาไว้บนช่องดิจิตอลได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขสัญญาสัมปทานกับ อสมท รวมถึงผิดกฎกติกา กสทช.ที่ระบุไว้ว่าผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินกิจการด้วยตนเอง  หรือหาก กสท.อนุญาตให้บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด นำรายการของช่อง 3 ไปออกอากาศคู่ขนาน (Pass Through) โดยที่สัญญาณ เนื้อหารายการและโฆษณาของช่อง 3 จะต้องไม่ถูกดัดแปลง แก้ไขใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาแก่ช่อง 3 ในเรื่องลิขสิทธิ์รายการ จากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และยังมีขั้นตอนที่ทั้ง บีอีซี มัลติมีเดีย และบางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ ต้องไปดำเนินการระหว่างกันให้ถูกต้อง อีกทั้งยังต้องไปหารือทำความตกลงกับ กสท. ในเรื่องการขออนุญาต ค่าประมูล ค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ส่วนจะให้ช่อง 3 อนาล็อกขออนุญาตออกอากาศเป็นแบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) เป็นไปไม่ได้ เพราะการเป็น Pay TV แล้วให้โครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลเอาสัญญาณของช่อง 3 ไปออกอากาศได้นั้น เจ้าของลิขสิทธิ์รายการของช่อง 3 จะถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ ประเภท Pay TV จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ใหม่ และค่าธรรมเนียมใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการดัดแปลง แก้ไขสัญญาณ เนื้อหารายการ หรือโฆษณา หรือไม่ก็ตาม

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ช่อง 3 อนาล็อกอยู่หรือไป บนจานดาวเทียม เคเบิล

Posts related