“จริงใจ จริงจัง และยั่งยืน”… ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวไว้ในการแถลงนโยบายรัฐบาล ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 57 ได้กลายเป็น “คำมั่นสัญญา” ที่รัฐบาล “ประยุทธ์ 1” ได้ให้ไว้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ  แม้จะไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อเข้ามารับหน้าที่บริหารแผ่นดินแล้ว ก็ไม่สามารถปฏิเสธคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ได้ โดยเฉพาะการเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะการันตีต่อ สนช. โดยกำหนดกรอบการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ ครอบคลุมไว้ถึง 18 ประเด็น แต่ทุกเรื่อง! ก็ใช่ว่าเป็นเรื่องง่าย ที่จะทำให้สำเร็จลุล่วงได้โดยง่าย…เพราะการบ้านชิ้นใหญ่นี้มีเดิมพัน คือความหวังของคนทั้งชาติ ที่อยากเห็นเศรษฐกิจดีกว่าที่เป็นอยู่  ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดกรอบการทำงาน ในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ 3 ระยะ ทั้งระยะเร่งด่วน ที่มีสารพัดเรื่องที่รอช้าไม่ได้ ต้องเดินหน้าทำทันที จากนั้นจึงมาทำระยะต่อไป ที่ส่วนใหญ่เป็นการสางปัญหาค้างท่อเดิม ๆ ให้แล้วเสร็จ ก่อนจะลุยงานในระยะสุดท้าย คือ ระยะยาว ที่เน้นวางรากฐานในทุกเรื่องที่เชื่อมโยงถึงกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ  เริ่มต้น…ด้วยระยะเร่งด่วน ที่มีงานเฉพาะหน้าต้องเร่งแก้ไข เพื่อประคองเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 4-5% ในปีต่อไป โดยเน้นการใช้จ่ายงบประมาณที่เหลือ ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักเครื่องยนต์เดียวในเวลานี้ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้า ทั้งงบประมาณปี 57 ที่ค้างอยู่มากพอสมควร ขณะเดียวกันยังสานต่อนโยบายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่คสช.ทำไว้ ที่ให้ความสำคัญกับการบูรณาการในงบประมาณปี  58  รวมถึงการกระตุ้นด้วยการลงทุน ที่เน้นโครงการที่มีประสิทธิภาพ และนักลงทุนยื่นขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนไว้แล้วให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว นำโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลตอบแทนดี เช่น โครงการขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ อาจมาจัดทำเป็นโครงการลงทุนร่วมกับเอกชน ตามความเหมาะสม ควบคู่กับการสร้างบรรยากาศการลงทุนครอบคลุม ทั้งวงการก่อสร้าง วงการอสังหาริมทรัพย์ และตลาดการเงิน เพื่อดูดเงินเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการดูแลเกษตรกร ที่รัฐบาลนิ่งดูดายไม่ได้ แต่ไม่ต้องหวังว่าจะมีโครงการใดส่งเงินมาใส่มือโดยตรงอีก เพราะโครงการประชานิยมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่มีแน่นอน แต่เน้นโครงการที่สร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรแทน โดยเฉพาะพืชหลัก ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา และอ้อย ซึ่งต้องดูว่า…จะมีแนวทางพัฒนาอย่างไร…ขณะเดียวกัน ยังสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องราคาสินค้า ควบคุมติดตามตรวจสอบสินค้าในท้องตลาดทั้งหมดว่า มีราคาต่ำ หรือสูงจนผิดปกติ กระทบกับกำลังซื้อประชาชนอย่างไร ควบคู่กับการติดตามสถานการณ์การส่งออก ลดขั้นตอนให้เกิดความสะดวกกับเอกชน ส่วนตัวหลักที่ดูดเงินเข้าประเทศอย่างการท่องเที่ยว กลายเป็นภารกิจเร่งด่วน… ที่ต้องวัดใจรัฐบาลว่า จะกล้ายกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือไม่?  เพราะสิ่งนี้ถือเป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างแท้จริง แม้ว่ารัฐจะชี้แจงสถานการณ์จูงใจให้คนมาเที่ยว แต่อาจได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะเดียวกัน ยังกำหนดการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่เสื่อมโทรม และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ควบคุมความปลอดภัย ไม่ให้เกิดปัญหาการเอาเปรียบ ขูดรีด จนกระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยว สางหนี้รัฐบาลเก่า  หลังจากทำระยะเร่งด่วนในช่วงปีหน้าแล้ว ระยะต่อไปหรือระยะกลาง เรื่องหลักคงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ที่สะสมมาในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะมีสูงกว่า 700,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นภาระต่องบประมาณต่อไปถึงช่วง 5 ปี ข้างหน้า ทำให้เหลืองบประมาณเพื่อการลงทุนพัฒนาประเทศน้อยลง เบื้องต้นคงต้องหาแหล่งเงินระยะยาวมาสะสางหนี้ทั้งหมด ควบคู่กับยืดเวลาชำระคืนให้นานที่สุด เพื่อลดภาระงบประมาณ และประสานนโยบายด้านการเงินการคลัง ให้สอดคล้องกัน โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง  พร้อมกันนี้ยังต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคงอัตราภาษีเงินได้ไว้เท่าเดิม ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีทางด้านการค้า ขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ ซึ่งจะเก็บจากทรัพย์สิน เช่น ภาษีมรดก ภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็ให้มีผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยที่สุด ปรับปรุงการลดหย่อนภาษีเงินได้ ให้เกิดประโยชน์กับผู้มีรายได้น้อย ยกเลิกการยกเว้นภาษีประเภทที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีฐานะการเงินดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนด้านพลังงาน นั้น ต้องปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงทุกประเภทให้เหมาะสม พร้อมสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบจากแหล่งใหม่ ๆ ทั้งในทะเลและบนบก ส่วนไฟฟ้า พร้อมให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาพลังงาน เช่นเดียวกับปัญหาน้ำท่วม ที่เกิดประจำทุกปี ได้กำหนดแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงเหมือนปี 54 ก่อนหาวิธีที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ให้ลดลงโดยเร็ว ไม่กระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ซึ่งช่วงที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ คู่กับการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยช่วง 1 ปีจากนี้ รัฐบาลจะเร่งสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก ให้กระจายครอบคลุมทั่วพื้นที่เพาะปลูกให้มากที่สุด วางกรอบระยะยาว  สุดท้าย คือการวางกรอบระยะยาวให้รัฐบาลในชุดต่อไปมาสานต่อ โดยเน้นการสร้างระบบการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานครอบคลุม บก น้ำ อากาศ แบ่งเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตคนเมืองหลวง โดยสร้างรถไฟฟ้าครอบคลุมเครือข่ายการเดินทาง เชื่อมโยงให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งแผนทั้งหมดกระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมไว้แล้ว รอแค่เสนอให้รัฐบาลอนุมัติ เพื่อประมูลหาเอกชนมาลุยงานก่อสร้าง ด้านอากาศ ได้เตรียมลงทุนสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ที่ค้างท่อมาหลายรัฐบาล พร้อมพัฒนาท่าอากาศยานอื่น ๆ คู่กันไป ด้านทางน้ำ แผนงานใหญ่อาจไม่มี เพราะจะเน้นการพัฒนาขนส่งในแม่น้ำเจ้าพระยา และชายฝั่งทะเล เพื่อขนส่งสินค้า  นอกจากนี้ยังต้องปรับโครงการบริหารจัดการระบบขนส่ง ตั้งหน่วยงานกำกับดูแลระบบราง เพื่อกำหนดมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัย โครงสร้างค่าบริการที่เป็นธรรม การลงทุน การบำรุงรักษา และบริหารจัดการ รองรับการลงทุนระบบรางที่มีสัดส่วนมากที่สุด เป็นระบบขนส่งหลัก แทนระบบขนส่งทางถนน ซึ่งช่วยลดต้นทุน ระยะเวลา ลดอุบัติเหตุ รวมทั้งยกเครื่องรัฐวิสาหกิจใหม่ ที่มีปัญหาสะสมด้านการเงิน-การทำงานให้เข้มแข็งขึ้น ด้านภาคอุตสาหกรรม พร้อมส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าไม่ผลิตแต่ของเดิมที่ราคาแพงมาแข่งกันขาย และสร้างโอกาสให้กลุ่มเอสเอ็มอี เติบโตบนขาตัวเองได้ ให้เป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ด้านการเกษตร มี 2 เรื่องใหญ่ คือ จัดพื้นที่ปลูกพืชให้เหมาะสม และเพิ่มบทบาทเกษตรกรให้แปรรูปผลผลิต ก้าวไปถึงเป็นผู้ส่งออก และสิ่งสุดท้าย ส่งเสริมการวางรากฐานของสินค้าเทคโนโลยีให้ทันโลก ทั้ง 18 นโยบายใน 3 ระยะ จากนี้ไปจะเป็นความจริงได้หรือไม่ ณ เวลานี้ คงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน…แต่ต้องให้เวลาอีก 1 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้!.  ระยะเร่งด่วน 1. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ 2. สานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ คสช. 3. เร่งพิจารณาโครงการลงทุนที่เสนอขอผ่านบีโอไอ 4. ดูแลเกษตรกรให้มีรายได้เหมาะสม 5. ลดอุปสรรคในด้านการส่งออก 6. กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ระยะต่อไป 7. ประสานนโยบายการเงินและการคลังให้สอดคล้องกัน 8. แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง 9. ปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ 10. ปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ 11. บริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่สะสมจากรัฐบาลก่อน ระยะยาว 12. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 13. แยกบทบาทการบริหารงานด้านการขนส่ง 14. ปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ 15. ดูแลภาคการเกษตร จัดโซนนิ่ง ส่งเสริมการแปรรูป 16. ส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิต 17. เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 18. วางรากฐานเศรษฐกิจดิจิตอล ส่งเสริมเทคโนโลยี เร่งแก้ความเหลื่อมล้ำ “ศิริกัญญา ตันสกุล” นักวิจัยอาวุโส มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา เห็นว่า นโยบายหนึ่งที่สำคัญที่รัฐบาลต้องแก้ไข คือ การลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน เพราะปัจจุบันช่องว่างของคนที่มีรายได้น้อย กับคนรวยต่างกันหลายเท่า ครอบครัวคนที่จนที่สุด คือคนแก่ ที่รอเงินจากลูกหลานส่งไปให้ ส่วนกลุ่มคนที่รวยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวของนักการเมือง ดังนั้นรัฐควรหาวิธีการลดช่องว่าง  โดยปฏิรูปจัดระบบสวัสดิการให้กับประชาชน ทั้งด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมกัน และทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง คือเรื่องของโอกาส ที่คนที่มีรายได้น้อยควรจะได้รับ ขณะเดียวกันการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ ที่นำมาช่วยเหลือประชาชนก็ควรทดลองกับกลุ่มตัวอย่างก่อน ว่าประสบความสำเร็จจริง หรือมีปัญหาอะไรต้องแก้ไขหรือไม่ เพราะบางนโยบายที่ใช้ในต่างประเทศ แล้วจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทย อาจต้องดูถึงความเหมาะสมก่อน แนะบริหารสต๊อกข้าว “อัมมาร สยามวาลา” นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) แนะว่า  รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสต๊อกข้าว 18.5 ล้านตัน ให้เหมาะสม เพราะสต๊อกข้าวไทยมีสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนในการระบายข้าวให้ถูกต้อง ที่สำคัญยุทธศาสตร์ข้าวต้องทำด้วยความเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบให้ราคาข้าวต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ขณะเดียวกัน การกำหนดนโยบายข้าวในอนาคต ต้องวางรากฐานให้รัฐบาลออกนโยบาย โดยนำราคาข้าวเป็นตัวตั้ง เพราะการประกาศยกระดับราคาข้าว จะทำให้ราคาต้นทุนต่าง ๆ ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นจึงต้องกำหนดมาตรการและนโยบายอื่นที่ช่วยเพิ่มมูลค่าข้าว เช่น ทำวิจัยเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว ปรับปรุงระบบชลประทานให้มีน้ำพอใช้ในฤดูแล้ง ขณะที่การทำโซนนิ่งภาคการเกษตร ต้องระวังไม่ให้เพิ่มอำนาจของกระทรวงเกษตรฯ ให้มีเครื่องมือของรัฐในการกำหนดราคาได้.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ดัน18นโยบายปลุกเศรษฐกิจ รอวัดฝีมือรัฐบาล ‘ประยุทธ์1’

Posts related