เมื่อเทรนด์การใช้งานมือถือสมาร์ทโฟนมีมากยิ่งขึ้น   การใช้งานดาต้าเพื่อรับส่งข้อมูลก็ต้องมีประสิทธิภาพเพื่อตอบโจทย์การใช้งานลูกค้าเช่นกัน นายจอน  เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ที่ส่วนใหญ่จะลงทุนโครงข่าย 3จี คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จากการลงทุนนี้  ส่งผลให้ดีแทคมีสถานีฐานในคลื่นดังกล่าว 1.1 หมื่นสถานีในปีนี้  จากสิ้นปี 56 ที่มี 6,000 สถานีฐาน ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานของประชากรรวม 55-60% โดยคาดว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้ การให้บริการ 3จี จะครอบคลุมพื้นที่ 80% ของประชากร ทั้งนี้ จากการเติบโตของการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นตามเทรนด์การใช้งานสมาร์ทโฟน  ทำให้ดีแทคมีแผนที่จะออกโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนราคา 2,000 บาทต่อเครื่อง ภายใต้ดีแทคไตรเน็ตโฟน โดยปีที่ผ่านมามียอดขายดีแทคไตรเน็ตโฟนอยู่ที่ 3 แสนเครื่อง   ตั้งเป้ายอดขายสิ้นปีนี้ที่ 5 แสนเครื่อง ซึ่งในไตรมาส 2 ของปี 57 จะมีการออกรุ่นใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้า 2จีได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตโมบายและหันมาใช้ 3จี มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันดีแทคไตรเน็ต มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 14 ล้านราย จากลูกค้าทั้งหมดในระบบ 28 ล้านราย อย่างไรก็ตาม ดีแทคยังหวังว่าจะมีการนำคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานมาเปิดประมูลรวมกับคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการ 4จี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายอื่น ๆ ขณะเดียวกัน ดีแทคจะเปิดให้บริการ 4จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ภายในปีนี้ด้วย ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการทดสอบใช้ระบบ 4จี ร่วมกับแอปเปิ้ล เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีที่สุดก่อนเปิดให้บริการ   โดยในช่วงเริ่มต้นจะเปิดให้บริการประมาณ 300 สถานี ครอบคลุม พื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน ได้แก่ สีลม สาทร ปทุมวัน บางรัก พญาไท ราชเทวี คลองเตย ดินแดง ฯลฯ โดยจะใช้งบลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท              นายจอน เล่าว่า ทันทีที่เปิดให้บริการ 4จี อย่างเป็นทางการ จะส่งผลให้ลูกค้าที่อยู่ในเครือข่ายดีแทคที่ใช้งานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมากกว่า 1 ล้านเครื่องทั่วประเทศที่รองรับการใช้งาน 4จี ได้ใช้งาน 4จี อย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่ถูกใจ นอกจากนี้ ดีแทคจะใช้งบลงทุนจำนวน 800 ล้านบาท ในการปรับโฉมและขยายศูนย์บริการ 300 แห่ง ร้านค้าย่อย 200,000 แห่ง ทุกตำบลทั่วประเทศ   ลูกค้าจะได้สัมผัสกับแนวคิด วันสต๊อป เซอร์วิส ได้รับความสะดวกสบายเสร็จภายในจุดเดียว  เพิ่มความเร็วในการให้บริการด้วยเครื่องมือดิจิทัล สามารถรับข้อมูลการบริการบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในศูนย์บริการอย่างรวดเร็ว      สำหรับรายได้รวมปี 57 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาทได้ เนื่องจากปีนี้ ดีแทคตั้งเป้าการเติบโตของรายได้รวม 3-5% จากปี 56 ที่มีรายได้รวม 9.49 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการเติบโตของบริการเสริมและบริการข้อมูลที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง ส่วนอัตรากำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อมคาดว่าจะอยู่ในช่วง 35-36% เพราะมีการควบคุมต้นทุนการบริหารงาน และเป็นผลมาจากการลดลงของส่วนแบ่งรายได้ เมื่อมีผู้ใช้บริการบนระบบใบอนุญาตมากขึ้น จะเห็นได้ว่า รายได้แต่ละปีของผู้บริการโทรคมนาคมเป็นเม็ดเงินที่สูง ที่มาจากยอดผู้ใช้งานทั้งประเทศ ดังนั้น ผู้ให้บริการต่างต้องแข่งขันสูงเพื่อดึงลูกค้าเข้าระบบให้ได้มากที่สุด ลูกค้าที่เพิ่มขึ้นถือเป็นการการันตีประสิทธิภาพและบริการของผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ดีแทค หั่นราคามือถือ หวังลูกค้าใช้งาน3จี

Posts related