ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ณ เวลานี้ประเทศไทยจะเข้าสู่โหมดอันตรายมากน้อยเพียงใด? แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของไทยไปแล้วจากกรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี โดยใช้อำนาจแทรกแซงและขัดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันยังรอสำทับ…ด้วยการถูกตัดสิทธิทางการเมืองอีกเป็นเวลา 5 ปีจากกรณีของการปล่อยให้ทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าว ขณะที่ี่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในอาการติดกับดักแตกแยกทางความคิดอย่างถอนตัวไม่ขึ้น…ในเมื่อโชคไม่เข้าข้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฝ่ายที่อยู่ข้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ต้องต่อสู้กันถึงที่สุดแน่นอนส่วนจะเกิดอะไรขึ้นบ้างคงไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้! แต่ที่แน่ ๆ เวลานี้หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างออกมาคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่ามีแต่แย่ลง…แย่ลง…เพราะการเมืองที่ยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้นทำให้ความเชื่อมั่นทุกด้านเริ่มดิ่งเหวลงเรื่อย ๆ ทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุน ความเชื่อมั่นของประชาชนคนไทย ที่ล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ออกมาระบุไว้ชัดเจนว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ต่ำที่สุดในรอบ 150 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 44 ขณะที่แบงก์ชาติรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่พบว่ายังต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำอย่างต่อเนื่องมานานถึง 9 เดือนแล้วส่วนดัชนีความเชื่อภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงต่ำลงต่อเนื่องและเรียกได้ว่าในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาได้ปรับลดลงต่ำที่สุดในรอบ 57 เดือนหรือแม้แต่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเองก็ตกอยู่ในอาการเดียวกันแถมยังเป็นดัชนีที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุดโดยอยู่ที่ 48.01 จุด เห็นภาพเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติแบงก์พาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันวิจัย ต่างออกมาเตรียมลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจกันเป็นแถวเพราะเห็นแนวโน้มที่แย่ลงและอาจเติบโตได้เพียง 1-2% เท่านั้นจากเริ่มแรกเดิมทีที่ตั้งความฝันกันไว้ว่าน่าจะทะยานได้ถึง 4-5% แต่เหตุปัจจัยจากการเมืองที่ไร้จุดจบทำให้ความฝันเริ่มริบหรี่ลงมาเรื่อย ๆ 4-5% ลงมาเหลือ 3% จนเวลานี้ต่างฝ่ายต่างคาดกันว่าจะไม่ถึง 2% กันแล้วอย่างแบงก์กสิกรไทยที่มองว่าอาจเติบโตเพียงแค่ 1.8%  ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของความเชื่อมั่นเท่านั้น แต่จากสภาพเศรษฐกิจที่บอบช้ำมาโดยตลอดทำให้คนไทยโดยเฉพาะคนชั้นกลางและรากหญ้ารากแก้วไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอยแถมยังถูกนโยบายของรัฐบาลซ้ำเติมเข้าให้ในโครงการรับจำนำข้าวเพราะรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายอันมีสาเหตุมาจากปัญหาการเมืองแถมราคาพืชผลทางการเกษตรทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพาราก็ตกต่ำเข้าไปอีกเพราะผลผลิตจากเพื่อนบ้านออกมามาก รวมไปถึงเรื่องของเงินลงทุนภาครัฐที่รัฐบาลตั้งความหวังไว้แต่เดิมว่าจะเป็นกลยุทธ์หลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมสร้างผลงานสร้างชื่อเสียงโดยเฉพาะการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแต่ก็ล้มเหลวทำไม่ได้ตามไปด้วย ครั้นจะมาหวังพึ่งพิงภาคเอกชนเพื่อให้ส่งออกสินค้ากันมาก ๆ หลังจากเห็นแสงสว่างรำไรจากซีกโลกตะวันตกว่าเริ่มดีวันดีคืนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัญหาของผู้ส่งออกไทยต่างมีมากมายสารพัดโดยเฉพาะต้นทุนที่สูงแข่งขันกับเพื่อนบ้านไม่ได้ก็กลายเป็นว่าต้องถูกกดด้านราคาทำให้เงินทองที่ได้มากลับเหลือเพียงน้อยนิด ที่สำคัญในไตรมาสแรกที่ผ่านมาก็ติดลบเข้าให้อีก 1% แม้เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงได้เข้ามาช่วยพยุงไว้บ้างแต่ยังคาดเดาไม่ได้จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีการส่งออกไทยจะหนักหนาสาหัสเพียงใด เป้าหมายที่วางกันไว้ที่ 5% จะเข้าเป้าหรือไม่? หันมาด้านท่องเที่ยว…รายได้ที่สำคัญของประเทศที่ได้มาโดยไม่ต้องมีต้นทุนก็เริ่มริบหรี่โดยเฉพาะตลาดเอเชียที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์การเมืองทั้งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวจีน หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวยุโรป ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือททท.เองก็อดรนทนไม่ไหวเตรียมปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวลงในสัปดาห์นี้จากที่คาดกันว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามามากถึง 28.4 ล้านคน ขณะที่รายได้ที่คาดหวังกันไว้ที่ 1.7-1.8 ล้านล้านบาทก็คงลบเลือนเพราะรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ลดลงส่วนรายได้ในประเทศก็ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะรายได้หลักจากการจัดงานประชุมสัมมนาของหน่วยงานราชการที่หดหายไปอย่างชัดเจนเพราะรัฐบาลไม่สามารถอนุมัติงบประมาณให้ได้  เศรษฐกิจที่แทบไม่เติบโตเช่นนี้ยิ่งทำให้บรรดาเด็กนักศึกษาที่จบใหม่ที่มีอยู่ประมาณ 4-5 แสนคนในเวลานี้ต้องตกงานตามไปด้วยเพราะบรรดาผู้ประกอบการต้องลดรายจ่ายจากการที่รายได้ไม่เพิ่มกำไรไม่งอกงามเหมือนแต่ก่อนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เห็นได้ชัดจากการลดชั่วโมงทำงานหรือการไม่รับแรงงานเพิ่ม อย่างไรก็ตามแม้บรรดาภาคเอกชนรายใหญ่อาจรับมือได้บ้างแต่บรรดาเอสเอ็มอีต่างออกอาการย่ำแย่ต้องปิดกิจการหนีตายกันเป็นแถว ส่วนประชาชนคนไทยเองก็เป็นไปโดยอัตโนมัติที่ต้องอยู่ในอาการ “พอเพียง” ไปโดยปริยายเพราะไม่มีเงินใช้จ่าย ด้วยสภาพการเมืองไทยที่ ’พิการ“ ในเวลานี้ ได้กลายเป็นพายุใหญ่ที่ถาโถมใส่เศรษฐกิจไทย แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งที่สามารถเติบโตได้บ้างในปีม้านี้ แต่หากสภาพเช่นนี้ยังไม่หยุด พายุสารพัดลูกยังซัดใส่ประเทศแบบไม่หยุดยั้ง…ก็มองไม่เห็นทางออกเหมือนกันว่าในอนาคตอีก 2-3 ปีจากนี้ไปเศรษฐกิจไทยจะตกอยู่ในสภาพเช่นใด?. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ตรวจชีพจรเศรษฐกิจไทย ฟันธงทะยานได้ไม่เกิน2%

Posts related