ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 56  องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น (ประเทศ ไทย) ร่วมกับกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกันจัดงานเสวนามหากาพย์จำนำข้าวสู่มหกรรมกอบกู้สุจริต “ความรับผิดชอบทางจริยธรรมเป็นความจำ เป็นในการพัฒนาประเทศ” เพื่อให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับข้อผิดพลาดในการบริหารของรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวจนเกิดความเสียหายแก่ประเทศ โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนชาวนา ผู้ส่งออกข้าว และอดีตรมว.คลัง ร่วมแสดงความคิดเห็น นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  ประเมินว่า หากรัฐบาลสามารถระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ใน 3 ฤดูกาลแรกของรัฐบาลชุดนี้หมดภายในวันนี้รัฐบาลก็จะขาดทุนในโครงการเพียง 283,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายในราคาตลาดโลก แต่คงเป็นไปได้ที่จะขายหมดตอนนี้  อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลขายหมดภายใน 5 ปีก็จะขาดทุนทางบัญชี 400,000 ล้านบาท “โครงการรับจำนำข้าวครั้งนี้เป็นการทำลายการพัฒนาข้าวของไทยที่ดำเนินการมาประมาณ 100 ปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  5 รวมถึงทำลายระบบการส่งออกข้าวไทย และ เศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก  อย่างไรก็ตามมองว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่ยกเลิกโครงการนี้แน่นอน เพราะเป็นแบรนด์ของพรรคไปแล้วในการหาเสียง ดังนั้นมั่นใจว่าโครงการนี้ ไม่ล้มแน่ แต่ทีดีอาร์ไอห่วงว่าเศรษฐกิจไทยจะล้มก่อน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง กล่าวว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรียกเลิกโครงการรับจำนำข้าวแล้วเปลี่ยนวิธีการอื่นในการช่วยเหลือ เกษตรกรแทน เนื่องจากช่วง 2 ปีในการรับจำนำข้าวของรัฐบาลขาดทุนทางบัญชี 425,000 ล้านบาท  ดังนั้นยังไม่สายที่จะยกเลิกวิธีการรับจำนำ แล้วหันมาใช้วิธีช่วยเหลือ แบบอื่นแทน เช่น การจ่ายผลประโยชน์ส่วนเพิ่มให้ชาวนาโดยตรงแทน ตลอดจนกระจายการช่วยเหลือครัวเรือนชาวนาที่ยากจนเพิ่มขึ้น หากทำได้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะได้ชื่อว่าได้ทำงานเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล  อดีต รมว.การคลัง  ยืนยันว่า โครงการรับจำนำของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาเกิดความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งการเก็บรักษาข้าว การป้องกันการ ทุจริต ประสบกับภาวะขาดทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะการคลัง ดังนั้น ภาครัฐจึงควรกลับไปทบทวนถึงการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็น การช่วยเหลือเกษตรกรโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) “การขาดทุนในระดับ 400,000 ล้านบาทหากเกิดขึ้นจริงจะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะต่อประเทศซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนให้คนรุ่นหลังได้โดยวิธีที่จะสามารถช่วยลดการขาด ทุนได้คือการใช้วิธีการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรโดยโอนเข้าบัญชีผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งต้องกำหนดว่าจะจ่ายให้ตันละเท่าไร โดยวิธีนี้ จะทำให้ทราบถึงจำนวนเงินที่จะใช้จ่ายในโครงการที่ชัดเจน” ด้าน นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อที่จะยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวที่ สร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างหนัก เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถยกเลิกในตอนนี้ได้ ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลได้แถลงนโยบายดังกล่าวต่อรัฐสภา ไปแล้ว ดังนั้นมีทางเดียวที่รัฐบาลจะลงได้คือการยุบสภา สำหรับความเดือดร้อนของโรงสีในบางส่วนพบว่าโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการในครั้งแรกหลายรายก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายแก่พวกพ้องนักการเมืองในหลาย ๆ ขั้นตอนด้วย ส่วนโรงสี และโกดังบางรายที่ต้องการข้าวเปลือกเข้าโครงการเยอะๆก็อาจมีการจ่ายเงินผู้เกี่ยวข้อง เพราะหากมีปริมาณข้าวเข้าโกดังเยอะก็จะได้ค่าบริหารจัดการเยอะตามไปด้วย นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งข้าวออกต่างประเทศ เห็นว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายจำนำมักจะเป็นที่ชื่นชอบของนักการเมืองที่ไม่ดีหรือไม่ หรือว่า ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องจำนำข้าวที่มีการเปิดช่องให้เกิดการฉ้อโกงงบประมาณและโรงสีฉ้อโกงชาวนาได้หลายช่องทาง เบื้องต้นประเมินว่าโรงสีบาง รายจะมีเทคนิคในการหักเงินจากชาวนาเฉลี่ย  3,300 บาทต่อตัน โดยชาวนาขายข้าวเฉลี่ยตันละ 10,000-12,000 บาท โดยการหักผ่านเครื่องมือในการโกงเรื่องคุณภาพ ข้าว ความชื้นข้าวและการเพิ่มปริมาณสิ่งเจือปน เป็นต้น นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ประเมินว่า ปัจจุบันมีชาวนารายย่อยไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวมากนัก โดยเฉพาะในส่วนของภาคอีสาน ที่ส่วนใหญ่ผลิตข้าวได้  3-5 ตันซึ่งหากนำไปเข้าโครงการปริมาณน้อยจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่สำคัญขณะนี้มีชาวนาหลายจังหวัดเช่น พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสิงห์บุรี ต้องการให้ตนช่วยกันเรียกร้องให้มีการประกันรายได้แทนการรับจำข้าว นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ เชื่อว่า รัฐบาลมีหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวถึง 6 แสนล้านบาทแล้ว และเกินกว่าเพดานวงเงินที่กำหนด ซึ่ง กระทรวงการคลังทราบดีถึงเงินที่ใช้จำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือทางกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ได้พิสูจน์แล้วว่าโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้ช่วยดันให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น ในทางกลับกันราคาข้าวในตลาดกำลังลดต่ำอย่างรุนแรงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผลมาจากตลาดโลกเห็นว่าไทยมีสต๊อกข้าว เหลือถึง 17 ล้านตัน ความเห็นของภาคเอกชนที่สะท้อนมุมมองโครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลควรนำไปปรับเปลี่ยนตามความเหมาะส เพื่อให้เงินภาษีจากประชาชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ถล่มนโยบายจำนำข้าว 2 ปี ขาดทุนยับ

Posts related