ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอยู่เรื่อย ๆ ในโซเชียลมีเดีย ว่าทำไมเราต้องส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายประเทศเพื่อนบ้านในราคาถูกกว่าขายคนในประเทศ จริง ๆ แล้วเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของ ดีมานด์ซัพพลาย คือเมื่อเราผลิตของได้เหลือใช้และต้องการส่งออกไปขายต่างประเทศ ก็ต้องขายในราคาที่ผู้ซื้อเขาพอใจจะซื้อ เพราะมีทางเลือกที่จะซื้อได้จากหลายแหล่ง ก็ต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่ถูกที่สุด ส่วนผู้ขายก็ต้องดูว่ามีทางเลือกหรือไม่ ว่าไม่ขาย หรือเก็บเอาไว้ในสต๊อก หรือลดการผลิตลง อะไรจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด  อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ได้กำไรสูงสุด แต่เป็นทางเลือกที่ขาดทุนน้อยที่สุดก็ได้ อย่างเช่นกรณีจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้วที่เก็บสต๊อกไว้สูงถึง 18 ล้านตัน ต้องระบายออกในราคาต่ำกว่าราคาขายในประเทศเป็นต้น การส่งออกผลิตภัณฑ์ส่วนเกินความต้องการในประเทศออกไปขายต่างประเทศนั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการสร้างโรง กลั่นฯในประเทศไทย เพราะเราสร้างโรง กลั่นฯมาเพื่อทดแทนการนำเข้า ไม่ได้สร้างมาเพื่อการส่งออกเหมือนอย่างโรงกลั่นฯในประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นเราก็ต้องไปแข่งขันกับสิงคโปร์ที่มีความได้เปรียบเราในทุกด้าน และเป็นผู้ครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว ถ้าเราต้องการขายให้ได้ เราก็ต้องลดราคาลงมาเพื่อแข่งขันกับสิงคโปร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะขายถูกกว่าราคาในประเทศไปเสียทั้งหมด ในบางตลาดที่เรามีความได้เปรียบด้านการขนส่ง เช่น ลาว กัมพูชา เราก็ขายราคาแพงกว่าราคาหน้าโรงกลั่น ยกเว้นบางตลาดที่เราเสียเปรียบด้านการขนส่งทางเรือเท่านั้น ที่เราต้องตัดราคาลงมาเพื่อแข่งขันกับสิงคโปร์ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการค้าระหว่างประเทศที่ราคาส่งออกนั้นมีทั้งถูกและแพง มีทั้งราคาที่สูงกว่าราคาในประเทศ หรือบางกรณีก็ต่ำกว่าราคาขายในประเทศ โดยเฉพาะในกรณีที่เรามีสินค้าส่วนเกินเหลือมาก ๆ และต้องระบายออกอย่างรวดเร็ว ว่าที่จริงแล้วก็มีสินค้าอีกหลายชนิดที่ราคาส่งออกถูกกว่าราคาขายในประเทศ อย่างเช่น มันสำปะหลัง น้ำตาล เป็นต้น แต่ก็ไม่เห็นมีใครออกมาโวยวายเหมือนน้ำมันเลย นอกจากเหตุผลในเรื่องของการผลิตเกินความต้องการจนต้องส่งออก และต้องไปแข่งขันราคากับคู่แข่งแล้ว ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกที่ทำให้บางครั้งผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมีราคาถูกกว่าราคาที่ขายในประเทศ คือ 1. น้ำมันที่ส่งออกมีคุณภาพไม่เหมือนกับน้ำมันที่ขายภายในประเทศ โดยน้ำมันที่ขายในประเทศไทยมีคุณภาพสูงกว่า เพราะรัฐบาลกำหนดมาตรฐานเอาไว้สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น น้ำมันเบนซินและดีเซลต้องได้มาตรฐานยูโร 4 และมีเปอร์เซ็นต์ซัลเฟอร์ต่ำเป็นพิเศษ ในประเทศเพื่อนบ้านของเราบางแห่งไม่ได้มีมาตรฐานสูงขนาดนั้น เพราะตัดค่าใช้จ่ายบางอย่างลงได้ เช่น ไม่ต้องสำรองน้ำมันตามกฎหมายเหมือนกับการขายในประเทศ ทำให้ลดราคาลงมาได้ 2.การส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศมีต้นทุนที่ถูกกว่าขายในประเทศ 3. ตลาดส่งออกถือเป็นตลาดซื้อขายที่ไม่มีความแน่นอน (Spot Market) ไม่มีสัญญาซื้อขายกันเป็นระยะยาว โรงกลั่นฯไม่ถูกผูกมัดจะต้องขายให้ตลอดเวลา ราคาที่ซื้อขายกันก็เป็นราคาตลาดจร (spot price) ตกลงกันเป็นครั้ง ๆ ไป มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ราคาในประเทศกับราคาส่งออกจึงอาจมีความลักลั่นกันได้บ้าง แล้วแต่สถานการณ์ของตลาดน้ำมันในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป และขึ้นอยู่กับการแข่งขันในแต่ละตลาดว่าจะมีความเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน การที่ราคาน้ำมันส่งออกจะถูกกว่าราคาในประเทศบ้างในบางครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรในเชิงธุรกิจครับ ดังนั้นโปรดอย่าได้นำไปเป็นเงื่อนไขปลุกระดมประชาชนให้เข้าใจผิดเลยครับ !!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ทำไมราคาน้ำมันส่งออก จึงถูกกว่าราคาขายในประเทศ – พลังงานรอบทิศ

Posts related