สัปดาห์ที่แล้วมีผู้นำคลิปเก่าที่เคยเผยแพร่ผ่าน Social Media มาแล้ว มารวบรวมเป็น series รวมทั้งหมด 10 ตอน แล้วนำมาโพสต์ลงในสื่อออนไลน์อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็มีขบวนการส่งต่อ ๆ กันไปในโลก Social Media หวังให้เป็นกระแสสังคมกดดันการปฏิรูปพลังงานที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของ คสช. ให้เป็นไปในทิศทางที่กลุ่มของตนเองต้องการ ผมดูคลิปเหล่านั้นหลายหนแล้ว เพราะมีคนส่งมาให้ดูมากมาย และอยากให้ผมชี้แจงให้ฟังว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งผมได้ตอบไปว่าถ้าจะให้ผมมานั่งชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ทั้งหมดใน 10 คลิปนั้น  ผมคงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี เพราะวัน ๆ แค่เดินสายไปบรรยายที่นั่นที่นี่ เขียนบทความ และเป็น commentator ทางรายการวิทยุและโทรทัศน์ วันละ 3 เวลาหลังอาหาร ผมก็แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน หรือเวลาเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว ยังไม่นับงานจรที่มีเข้ามาในแต่ละวัน เช่น การให้สัมภาษณ์นักข่าวต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้นผมคงจะเลือกบางประเด็นมาชี้ แจงในคอลัมน์ของผม ซึ่งประเด็นในวันนี้คือการส่งออกน้ำมันดิบไปขายต่างประเทศ ว่าเรามีความจำเป็นอะไรต้องส่งน้ำมันดิบไปขายต่างประเทศ  ทั้ง ๆ ที่เรามีน้ำมันดิบไม่พอใช้ โดยปีหนึ่ง ๆ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่เราส่งออกไปขายต่างประเทศนั้นไม่ได้มากมายอะไรอย่างที่เขาพยายามพูดให้เข้าใจผิดกัน ตามตัวเลขของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เราส่งออกน้ำมันดิบไป    ต่างประเทศในปีที่แล้วเพียง 26,000 บาร์เรล/วัน (ประมาณ 4.1 ล้านลิตร/วัน) คิดเป็น 11% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่เราผลิตได้ ในประเทศทั้งหมดที่ 238,000 บาร์เรล/วัน (37.8 ล้านลิตร/วัน) คิดเป็นมูลค่าส่งออก เพียง 31,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 40% เหตุผลที่ต้องส่งออกก็เป็นเรื่องทางธุรกิจ นั่นก็คือน้ำมันที่ส่งออกนั้นเป็นน้ำมันดิบที่มีสารปรอทปะปนอยู่ด้วย ทำให้โรงกลั่นน้ำมันในไทยบางแห่งที่ยังไม่ได้ติดตั้งหน่วยกำจัดสารปรอทไม่สามารถรับซื้อน้ำมันดิบชนิดนี้ได้  เมื่อผู้รับซื้อมีจำกัด ราคาก็ไม่ดี ในกรณีนี้ผู้ผลิตซึ่งก็คือผู้รับสัมปทานก็มีทางเลือกคือส่งออกไปขายต่างประเทศ ถ้าได้ราคาดีกว่า ถามว่าผู้รับสัมปทานเขาอยากส่งออกไหมครับ เขาไม่อยากส่งออกหรอกครับ ถ้าขายในประเทศได้ราคาพอ ๆ กันกับขายไปต่างประเทศ  หรือแม้แต่ถูกกว่านิดหน่อยเขาก็ยังยินดีขายในประเทศ เพราะเขาสามารถเอาค่าภาคหลวงที่เขาเสียไป ไปเครดิตภาษีได้ ในขณะที่ถ้าส่งออกทำไม่ได้ จะเห็นว่าระบบของเราออกแบบให้ผู้ผลิตต้องขายในประเทศเป็นอันดับแรก ยกเว้นแต่ไม่มีผู้รับซื้อ หรือถูกกดราคาเท่านั้น เขาถึงจำเป็นต้องไปส่งออก ในบางกรณี การส่งออกก็เกิดขึ้นจากการที่โรงกลั่นฯ ในบ้านเรามีการปิดซ่อมตามฤดูกาล ทำให้ถังเก็บน้ำมันเต็มจึงไม่สามารถรับซื้อน้ำมันได้ ผู้ผลิตก็ต้องส่งออกเพื่อไม่ให้กระบวนการผลิตของเขาต้องหยุดชะงัก เป็นต้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าว ผมจึงไม่เห็นว่าการที่ไทยต้องส่งออกน้ำมันดิบไปขายต่างประเทศเป็นความเสียหายอะไรที่ต้องนำเอาประเด็นนี้มาขยายในสื่อสังคมเสียอย่างใหญ่โต   การที่ผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบไปขายต่างประเทศแล้วได้ราคาดีกว่าขายในประเทศ ก็เป็นผลดีต่อรัฐบาลเพราะทำให้เก็บค่าภาคหลวงได้มากขึ้น  เนื่องจากเราเก็บค่าภาคหลวงตามมูลค่าของน้ำมัน และยิ่งผู้รับสัมปทานมีกำไรมาก เราก็ยิ่งเก็บภาษีได้มากขึ้น เพราะเราเก็บภาษีธุรกิจจากผู้รับสัมปทาน 50% ของกำไรสุทธิ เราจึงไม่ได้มีอะไรเสียเปรียบจากการที่ผู้รับสัมปทานส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศแต่อย่างใด ยิ่งเรื่องที่บอกว่าส่งน้ำมันไปขายต่างประเทศ กำไรเข้ากระเป๋าต่างชาติ แต่รัฐบาลต้องไปซื้อน้ำมันจากตะวันออกกลางมากลั่นนั้น  ยิ่งเป็นเรื่องที่มโนกันไปใหญ่ เพราะทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของเอกชนเขาทำกันเองทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเลยครับ เหมือนกับที่พยายามจะบอกว่าประเทศไทยส่งน้ำมันดิบไปขายอเมริกา เลยทำให้อเมริกาขายน้ำมันเบนซินในราคาถูกกว่าเมืองไทยได้  ผมฟังแล้วจะขำกลิ้ง โอ้โฮ น้ำมันดิบจากประเทศไทยเนี่ยนะทำให้น้ำมันในอเมริการาคาถูกได้ รู้กันบ้างไหมว่า อเมริกานั้นใช้น้ำมันวันละ 19 ล้านบาร์เรล นำเข้าวันละ 10 ล้านบาร์เรล และไทยส่งน้ำมันไปอเมริกาแค่วันละไม่ถึง 1 หมื่นบาร์เรล แล้วเราจะมีฤทธิ์มีเดชมากถึงขนาดนั้นเลยหรือ แล้วรู้ไหมว่า ที่ว่าส่งไปขายที่อเมริกานั้น ส่งไปที่ไหน จะบอกให้ว่า เขาส่งไปขายที่โรงกลั่นในฮาวายจ้า รู้แล้วก็เลิกหลับหูหลับตามั่วนิ่มเสียทีเถิด พ่อเจ้าประคุณ!!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ทำไมไทยต้องส่งออกน้ำมันดิบไปขายต่างประเทศ – พลังงานรอบทิศ

Posts related