คำถามที่ว่าตลาดแรงงานในสหรัฐ อเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างน่าผิดหวัง และยังทำให้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น มาจากสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนไม่ดีเช่นยุคก่อน หรือเกิดจากบรรดานักลงทุนและซีอีโอทั้งหลายหาโอกาสไม่พบ คิดไม่ออกว่าจะลงทุนอะไรซึ่งเป็นคำถามทิ้งท้ายในบทความที่แล้วของผู้เขียน ศาสตราจารย์ ดร.เคลย์ คริสเตียนเซ่น   ได้เขียนคำอธิบายไว้ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ช่วงปลายปี ค.ศ. 2012 จากการที่ ดร.คริส เตียนเซ่น ได้ศึกษาและวิจัยนวัตกรรมการลงทุนของสหรัฐอเมริกา และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้บทสรุปที่น่าสนใจว่า ปัญหาของการที่ไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างงานอย่างจริงจังเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น มาจากการที่นักลงทุนและซีอีโอตลาด หลักทรัพย์มักจะจ้องหาโอกาสการมุ่งสู่ธุรกิจที่มีกำไรเท่านั้น โดยไม่คิดอยากที่จะเสี่ยงภัยกับการลงทุนใหม่ ๆ ที่กำไรชัวร์ๆ ไม่รู้ คืออยากจะได้กำไรเพื่อเก็บตุนเงินสดไว้ในมือเยอะ ๆ นั้นเอง เลยทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่มีเงินสดเหลือเยอะ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กระจายตัวดีขึ้น ดร.คริสเตียนเซ่น ได้อธิบายว่าแนวคิดนี้สร้างปัญหา ประเด็นของปัญหานี้มาจากการลงทุนที่มุ่งสู่ตัวเลขชี้วัดทางการเงินของบริษัทต่าง ๆ เพื่อการสร้างผลกำไรที่แน่นอน และด้วยวิธีการนี้เลยทำให้ธุรกิจที่มักจะสร้างผลกำไรที่งามมักจะไม่ได้สร้างตลาดแรงงาน แต่มักจะต้องตัดลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลงเพื่อให้เกิดผลกำไรของบริษัทมากกว่า ซึ่งมุ่งสู่ผลกำไรมากกว่าการสร้างตลาดแรงงานหรือการจ้างงาน ซึ่งก็คือบ่อเกิดแห่งปมปัญหาการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ดร.คริสเตียนเซ่น   ได้เปิดแนวคิดที่ได้ค้นพบนี้ และได้ท้าทายโดยโต้แย้งว่า การที่นักลงทุนใช้ตัวเลขชี้วัดทางการเงินเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจที่สร้างผลกำไร เป็นแนวคิดทุนนิยมที่ล้าสมัย ไม่ได้ช่วยการสร้างตลาดแรงงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ดร.คริสเตียนเซ่น  ได้โต้แย้งว่า แนวคิดทุนนิยมที่ล้าหลังมาจากแนวความคิดของนักเศรษฐกิจผู้โด่งดังในสมัยประธานาธิบดี โรนัลด์  รีแกน ที่ชื่อ ดร.จอร์จ กิลเดอร์ ที่ได้อธิบายว่า ทุนนิยมนั้นคือทรัพยากรที่มีน้อยและจำกัดเราจะต้องเก็บรักษาทุกอย่างไว้ ไม่ว่าจะเสียอะไรไปก็ต้องยอม ซึ่งหมายความว่ามนุษย์มีความโลภและต้องการอย่างไม่จำกัด ขณะที่โลกเรามีทรัพยากรจำกัด สังคมมีทรัพยากรที่มีผลิตภาพไม่เพียงพอต่อความอยากได้อยากมีของมนุษย์ ดร.จอร์จ กิลเดอร์ได้เคยโด่งดังในหนังสือที่ชื่อ “หลักความเชื่อของระบบทุนนิยมซึ่งมีคุณค่าสำหรับคนที่ชาญฉลาด” หนังสือนี้ขายดีโดยออกในช่วงจังหวะที่ประธานาธิบดี โรนัลด์ รีแกน เข้าสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1981 และประธานาธิบดีรีแกนมักจะกล่าวสุนทรพจน์ โดยอ้างถึงหนังสือของ ดร.กิลเดอร์ ปัจจุบัน ดร.กิลเดอร์อายุ 74 ปี อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก ดร.คริสเตียนเซ่น โต้แย้งว่า ทุนนิยมปัจจุบันและขณะนี้สหรัฐไม่ขัดสนเรื่องเงินทองเพราะบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกามีเงินสดอยู่ในบัญชีงบดุลถึง 48 ล้านล้านบาท คือมีกองเงินสดอยู่ในมือจำนวนมหาศาล และก็แนะนำเหล่าบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาว่าถ้าหากอยากจะคืนผลของรายได้และกำไรจากกองเงินสดเหล่านี้ จะใช้วิธีการประเมินตัวเลขทางการเงินแบบเดิม ๆ ซึ่งเล็งถึงกำไรอย่างเดียวไม่ได้ และจะไม่ก่อเกิดประโยชน์แต่อย่างใด จะต้องหยุดพฤติกรรมพวกนี้ ดร.คริสเตียนเซ่น แนะว่าความสามารถของผู้บริหารและซีอีโอในการที่จะดึงดูดผู้ที่มีความสามารถพิเศษ กระบวนการทำงาน การแก้ปัญหาและการถ่ายทอดแผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดโอกาสในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีความยากลำบากมากกว่าการหาเงินสดมากองไว้หลายเท่านัก อันที่จริงแล้วนักลงทุนหรือผู้บริหารทั้งหลายในสหรัฐที่ขาด แคลนก็คือเครื่องมือต่าง ๆ ทางธุรกิจที่ใช้สำหรับการตัดสินใจลงทุนเพื่อสร้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พวกเขาเหล่านี้มีกองเงินสดมหาศาลอยู่แล้วไม่ได้ขาดแคลนอะไร นักลงทุนหรือผู้บริหารบริษัททั้งหลายขาดความเข้าใจในการตัดสินใจลงทุนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าสิ่งอื่นใด บทความหน้าจะเขียนแนวคิดใหม่ในการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมมนุษย์. รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด Boonmark@stamford.edu

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ทุนนิยมอเมริกันหรือแนวคิดตัน (2) – โลกาภิวัตน์

Posts related