เปิดให้บริการมาแล้วถึง 12 ปี กับ “ธนาคารน้ำเชื้อสุนัขและแมว” ของโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เอาใจคนรักสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์พันธุ์หายาก โดยสามารถที่จะเก็บรักษาน้ำเชื้อไว้เพื่อผสมเทียมได้เป็นร้อยปี แม้พ่อพันธุ์นั้นจะสิ้นอายุขัยไปแล้วก็ตาม รศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสูติศาสตร์และวิทยาการสืบพันธุ์ในสัตว์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ บอกว่า ที่ผ่านมาการขยายพันธุ์และพัฒนาพันธุ์สุนัขและแมวที่มีลักษณะดี มักใช้การซื้อพ่อพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าตัวสัตว์เลี้ยงและค่าขนส่ง ขณะที่ตัวสัตว์เองก็อาจเกิดความเครียดและได้พันธุกรรมจากสัตว์เพียงหนึ่งตัวเท่านั้น การผสมพันธุ์สุนัขและแมวในต่างประเทศจึงใช้การผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งเป็นหลัก ซึ่ง “ธนาคารน้ำเชื้อสุนัขและแมว” ของจุฬาฯ ถือเป็นการให้บริการเก็บรักษาน้ำเชื้อสัตว์เลี้ยงแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา ด้าน นสพ.ดร.ศุภวิวัธน์ พงษ์เลาหพันธุ์ ผู้ช่วยคณบดี และเลขานุการกรรมการคณะสัตวแพทยศาสตร์ อาจารย์ประจำหน่วยสูติกรรม โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ บอกว่า ปัจจุบันธนาคารน้ำเชื้อฯ ให้บริการเก็บน้ำเชื้อสุนัขและแมวแช่แข็งมาแล้วกว่า 100 ตัว ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นฟาร์มสุนัข ทั้งนี้การให้บริการจะมีตั้งแต่การรีดน้ำเชื้อ ตรวจสุขภาพน้ำเชื้อ และฟรีซแช่แข็งในถังเก็บสามารถเก็บไว้ผสมเทียมหรือผสมในหลอดแก้วได้นานเป็นร้อยปี และมีคุณภาพคงเดิม หากยังเก็บอยู่ในถังไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส นสพ.ดร.ศุภวิวัธน์ บอกว่า เทคโนโลยีที่ใช้นอกจากจะเป็นเทคนิคในการเก็บน้ำเชื้อ กระบวนการหรือขั้นตอนในการแช่แข็งแล้ว ปัจจัยที่สำคัญก็คือการพัฒนาสารละลายที่ใช้เจือจางน้ำเชื้อเพื่อใช้ในการแช่แข็งและวิธีการผสมเทียม ที่ใช้การฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในมดลูกของสัตว์ผ่านกล้อง ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสการผสมติดได้สายพันธุ์แท้มากขึ้น สำหรับการพัฒนาสารละลายที่ใช้เจือจางน้ำเชื้อฯ นั้น รศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี บอกว่า เป็นความสำเร็จของทีมวิจัยของจุฬาฯ ที่วิจัยพบว่าการใส่สารสกัดต้านอนุมูลอิสระ เช่น ซิสเตอีน วิตามินอี กลูต้าไธโอน เปอร์ออกซิเดส ซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเตส ในสารละลาย จะมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการรอดของน้ำเชื้อ โดยทำให้น้ำเชื้อที่จะทำการแช่แข็งหรือแช่เย็น มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น 5-30% นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิหลังการแช่แข็ง รวมทั้งรักษาคุณสมบัติที่จำเป็นในกระบวนการปฏิสนธิให้ปลอดภัยจากการแช่แข็งอีกด้วย รศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี บอกอีกว่า การทำน้ำเชื้อแช่แข็ง นอกจากจะให้บริการคนรักสัตว์เลี้ยงที่อยากจะขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยงตัวโปรดแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายาก ซึ่งทีมวิจัยมีความร่วมมือกับองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการเก็บน้ำเชื้อเพื่อผสมเทียมสัตว์ป่าในตระกูลแมว เช่น เสือลายเมฆ แมวป่า แมวดาว และเสือไฟ ซึ่งใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งการเก็บน้ำเชื้อแช่แข็งนี้ สามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน ดังนั้นแม้สัตว์ป่าตัวผู้จะตายไป แต่หากมีตัวเมียอยู่ก็ยังสามารถขยายพันธุ์ได้ และนี่ก็คืออีกหนึ่งทางเลือกในการขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยงในยุคปัจจุบัน. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ธนาคารน้ำเชื้อสัตว์เลี้ยงแสนรัก

Posts related