เราเห็นรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีไอทีสมัยใหม่ ทั้งมือถือ ทั้งเครื่องบินจิ๋ว ทั้งนาฬิกาคอมพิวเตอร์ ทั้งหุ่นยนต์ เครือข่ายมือถือสามจีสี่จี ดูแล้วก็ให้รู้สึกตื่นเต้นไปกับความก้าวหน้าเหล่านั้น แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่าเทคโนโลยีใด ๆ จะ “สำคัญ” ก็ต่อเมื่อภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของวงจรธุรกิจได้เต็มที่เพราะภาคธุรกิจนั้นมีแรงทรัพย์และการลงทุนที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีได้ดีหากมองย้อนกลับไปในอดีต (ตามประสาคนมีอายุ) จะพบว่าไมโคร คอมพิวเตอร์ หรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือพีซีในยุคแรกเป็นเพียงของเล่นไฮเทค แต่เมื่อบริษัทไอบีเอ็มออกไอบีเอ็มพีซี (IBM PC) ออกมาให้ธุรกิจสามารถนำไปใช้ได้เป็นเรื่องเป็นราว ก็เป็นการเปิดศักราชของการใช้พีซีอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นการใช้เพื่อให้มีการทำงานที่เหนือกว่าคู่แข่ง เป็นแรงผลักดันของวงการไอที แม้แต่ในยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัววงการไอทีก็ยังเติบโตได้เพราะยิ่งต้องการไอทีเพื่อให้การดำเนินธุรกิจนั้นมีประสิทธิภาพเพิ่มพูนขึ้นเพื่อลดต้นทุนดังนั้นแม้ว่าขณะนี้สตีฟ จ็อบส์ ผู้ล่วงลับแห่งบริษัทแอปเปิลจะจุดกระแสมือถือสมาร์ทโฟนอันยิ่งใหญ่ด้วย ไอโฟน 4 ของเขา กลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ จนมาบุญครองทั้งชั้นสี่กลายเป็นอาณาจักรมือถือแห่งเอเชียภายในไม่กี่ปี และทำให้คนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ในสายตาของผมนั้นอยากจะเรียกว่านี่เป็นเพียง “น้ำจิ้ม” เป็นอาหารเรียกน้ำย่อย เพราะเพิ่งไม่นานมานี้ที่แอปเปิลได้ตกลงร่วมมือกับไอบีเอ็มเพื่อผนวกให้ไอโฟนประสานทำงานกับระบบธุรกิจขององค์กรได้สนิทแนบแน่นขึ้นอาจกล่าวได้ว่าตอนนี้ธุรกิจรับเอาสมาร์ทโฟนเข้าไปเต็มอ้อมอกแล้ว ก็ต้องรอดูกันต่อว่าจะออกมาเปรี้ยงปร้างไปมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร (ยังนึกไม่ออกเหมือนกันครับ)มาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่าที่ผมว่า “ธุรกิจ” นั้นหมายถึงอย่างไร เกี่ยวอะไรหรือมีอิทธิพลอย่างไรกับวงการไอที อันนี้ก็ยกตัวอย่างง่าย ๆ ใครใช้คอมพ์หรือสมาร์ทโฟนย่อมต้องรู้จัก “กูเกิลเสิร์ช” และ “ไลน์” เวลาค้นหาอะไรในกูเกิลแล้วลองดูผลลัพธ์ที่ออกมา ตรงหัวจะบอกว่าค้นหาได้กี่ตัว และใช้เวลาเท่าไรในการค้นหา ซึ่งปกติจะต่ำกว่าครึ่งวินาทีลองคิดดูสิครับว่าครึ่งวินาทีเพื่อการบริการค้นหาคำหรือข้อความจากคลังความรู้ของมวลมนุษยชาติอันมหาศาล หลากหลายภาษา ท่ามกลางการขอค้นหาจากผู้คนมากหลายนับหลายร้อยหลายพันล้านคนในแต่ละวันแต่ละนาที ถ้าเป็นบริษัทคุณจะต้องใช้ระบบอุปกรณ์ไอทีขนาดไหน มีคนสักเท่าไร ต้องประดิษฐ์คิดค้นและออกแบบ ก่อสร้าง ปรับปรุง มากมายมหาศาลเพียงใดหรือการส่งข้อความในแอพอย่างไลน์นั้น จากผู้คนทั่วโลกเป็นหลายร้อยล้าน ถล่มส่งข้อความ สติกเกอร์ รูป วิดีโอ สารพัดสารพันเข้าไปทั้งกลางวันกลางคืน แล้วระบบไอทีของบริษัทที่ให้บริการเขารับกันไหวได้อย่างไร มีมนต์วิเศษอะไรอยู่เบื้องหลัง มีจอมขมังเวทร่ายคาถาอยู่ข้างในห้องคอมพ์หรืออย่างไรคำตอบเหล่านี้แหละที่เรียกว่า “ธุรกิจ” ของวงการไอทีที่เข้ามาเติมเต็มให้เรา ๆ ท่าน ๆ สามารถใช้บริการสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กได้กันกระเจิงถ้วนทั่วหน้า เป็นศาสตร์ที่ต้องการการศึกษาเรียนรู้ ค้นคว้าทำความเข้าใจกันอย่างมาก ไม่ใช่เพียง “ฉันใช้คอมพ์เป็น” ก็จะรู้ไปเสียได้ยังดีที่สถาบันอุดมศึกษาในบ้านเราก็ไม่ย่อท้อ มีหลักสูตรใหม่ ๆ เกี่ยวเนื่องกับ “ไสยศาสตร์” เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างที่ภาควิชาวิศวคอมพ์ที่ผมเคยสังกัดอยู่ (ตอนนี้เกษียณแล้ว) ก็มีหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้รู้เกี่ยวกับระบบไอทีภายในของ Enterprise ที่ธุรกิจจำต้องสะสมต้องมีเพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างใจใครสนใจก็มานั่งคุยกันได้ครับ เผื่อบ้านเราจะได้มีอะไรไปฟัดกับกูเกิล ไลน์ หรือเฟซบุ๊ก กับเขาบ้าง.อ.ดร.ยรรยง เต็งอำนวย
(อดีต) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล Yunyong.T@Chula.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ธุรกิจกับไอที – 1001

Posts related