แม้จะยังอยู่ในช่วงหน้าฝน แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าปีนี้น้ำจะน้อย ซึ่งอาจสร้างปัญหาด้านการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรไทยได้ จะดีแค่ไหนหากงานวิจัยสามารถตอบโจทย์และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำนี้ได้บ้าง อย่างเช่น นวัตกรรม “พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง” หนึ่งในงานวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน.   กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “ดร.สมพร จองคำ” ผู้อำนวยการ สทน.  เปิดเผยว่า พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง ของ สทน. เป็นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปช่วยเกษตรกรในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยเป็นพอลิเมอร์ที่ผลิตจากธรรมชาติ นำมาผ่านการฉายรังสี เพื่อปรับคุณสมบัติให้ไม่ละลายน้ำ แต่บวมน้ำได้ดี สามารถดูดซึมน้ำได้ถึงประมาณ  200 เท่า เมื่อเทียบกับน้ำหนักแห้ง  พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูงนี้สามารถนำมาใช้ผสมดิน เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติในการอุ้มน้ำในแปลงปลูกพืชในพื้นที่แห้งแล้ง หรือสามารถใช้ผสมกับดินเพื่อปลูกในอาคารหรือบ้านเรือน เพื่อลดความถี่ในการรดน้ำต้นไม้ลงได้  ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว สทน. จะนำพอลิเมอร์นี้ไปให้เกษตรกรที่สนใจใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะในจังหวัดที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ง ด้าน “ดร.พิริยาธร  สุวรรณมาลา” นักวิจัยเจ้าของผลงานชิ้นนี้ บอกว่า แป้งมันสำปะหลัง ถือเป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติที่หาได้ง่าย มีราคาถูก และมีปริมาณมากในประเทศไทย คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัสดุที่มีศักยภาพสูงในการนำมาใช้ทดแทน หรือลดต้นทุนในการผลิตพอลิเมอร์  การที่แป้งมันสำปะหลังมีหมู่ไฮดรอกซิลที่ว่องไวในการทำปฏิกิริยา (Reactive hydroxyl group) ทำให้สามารถเปลี่ยนสมบัติของแป้งเพื่อให้มีสมบัติในการดูดซับน้ำได้ในปริมาณมาก โดยการใช้กระบวนการทางรังสีมาสังเคราะห์ เป็นวัสดุสำหรับดูดซึมน้ำสูงเพื่อใช้ในทางการเกษตรเพื่อรักษาความชื้นของดิน  ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าของแป้งมันสำปะหลัง สำหรับวิธีใช้พอลิเมอร์นี้ นักวิจัยแนะ นำว่า เกษตรกรนำพอลิเมอร์แช่น้ำไว้ 1 คืน หลังจากนั้นนำพอลิเมอร์ที่บวมน้ำแล้วไปผสมในดินที่จะใช้ปลูกต้นไม้ และเนื่องจากพอลิเมอร์นี้ทำมาจากธรรมชาติ ไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษในดิน เพราะสามารถย่อยสลายไปได้ภายใน 16 เดือน และสามารถทดแทนการนำเข้าพอลิเมอร์จากต่างประเทศ  ทั้งนี้เป็นการนำพอลิเมอร์อุ้มน้ำซึมน้ำสูงไปทดลองในแปลงข้าวโพดอ่อน โดยมีแปลงที่ใช้พอลิเมอร์ผสมไปกับดิน และแปลงที่ไม่ได้ใส่ซึ่งเป็นแปลงควบคุม ผลปรากฏว่าแปลงที่ผสมพอลิเมอร์มีผลผลิตที่มากกว่าแปลงควบคุมถึง 43% ต่อน้ำหนักผลผลิต ปัจจุบัน สทน.ได้นำพอลิเมอร์อุ้มน้ำนี้ไปใช้ในไร่ยาง ไร่มะละกอ และสวนหน่อไม้ไผ่ตง ที่จังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ ซึ่งเกษตรกรที่นำไปใช้สามารถเพิ่มผลผลิตได้ดี  พอลิเมอร์ดังกล่าวนอกจากจะสามารถช่วยอุ้มน้ำในดินสำหรับหน้าแล้งได้ดีแล้ว การใช้พอลิเมอร์ที่ผลิตได้เองในประเทศจะช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นสารเคมีจากต่างประเทศ และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งการย่อยสลายพอลิเมอร์ที่ทำจากสารเคมีต้องใช้ระยะเวลานานอีกด้วย. 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นวัตกรรมพอลิเมอร์อุ้มน้ำช่วยเพาะปลูกหน้าแล้ง – ฉลาดสุดๆ

Posts related