จากเหตุการณ์คลื่นลมแรงในบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างต่อเนื่องซึ่งบางครั้งคลื่นสูงถึง 5 เมตร ได้ทำลายกำแพงกันน้ำตามแนวชายฝั่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะมีเหตุสึนามิซ้ำสองหรือไม่ผนวกกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ที่ อ. พาน จังหวัดเชียงรายที่ผ่านมาทำให้เกิดมีข่าวแพร่กระจายว่าจะเกิดสึนามิอีกครั้งในไม่ช้านี้ส่งให้สาธารณชนเกิดความตระหนกนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. อมร พิมานมาศรองเลขาธิการสภาวิศวกร และอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในฐานะนักวิจัยโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า คลื่นลมดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีกำลังแรงในช่วงเวลานี้ทำให้เกิดคลื่นลมแรงและกระทบต่อชายฝั่งเท่านั้นแต่ไม่มีมวลน้ำไหลทะลักเข้ามาในพื้นดินดังเช่น สึนามิทั้งนี้สึนามิเกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเลหรือมหาสมุทรเท่านั้นดังนั้นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในภาคเหนือหรือในพม่าซึ่งเป็นแผ่นดินไหวบนบกจึงไม่ทำให้เกิดสึนามิในทะเลได้ และแผ่นดินไหวในทะเลจะต้องมีขนาดใหญ่เกิน 7ริกเตอร์ขึ้นไปจึงจะทำให้เกิดสึนามิได้ แต่เป็นเพียงสึนามิขนาดเล็กที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย หากเป็นสึนามิที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชายฝั่งทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนได้นั้น ต้องมีขนาดเกิน 8 ริกเตอร์ขึ้นไป รศ.ดร.อมร  ระบุว่า แผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดสึนามิได้นั้นต้องเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกแล้วทำให้พื้นทะเลยกตัวขึ้นในแนวดิ่ง ผลักให้มวลน้ำมหาศาลซัดเข้าหาชายฝั่ง เช่นแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ ในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อปี 2547ส่วนแผ่นดินไหวในทะเลซึ่งเกิดขึ้นจากการเลื่อนไถลของรอยเลื่อนหรือเปลือกโลกในแนวราบจะไม่ทำให้เกิดสึนามิสำหรับประเทศไทยบริเวณที่เสี่ยงต่อสึนามิ คือ ชายฝั่งทะเลอันดามันเนื่องจากอยู่ใกล้แนวที่แผ่นเปลือกโลกมุดตัวเข้าหากันในมหาสมุทรอินเดียซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลอันดามันไปเพียง 500-1000 กิโลเมตร เท่านั้นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้แก่ ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูลและหมู่เกาะในทะเลอันดามัน เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เป็นต้นเพราะแนวมุดตัวของเปลือกโลกยังมีพลังอยู่ จึงต้องระวังอาจเกิดสึนามิซ้ำได้อีกส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมีความเสี่ยงจากสึนามิน้อยมากเนื่องจาก ไม่พบรอยเลื่อนขนาดใหญ่ อยู่ห่างไกลจากแนววงแหวนไฟแปซิฟิกหลายพันกิโลเมตร   อย่างไรก็ตามชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมีความเสี่ยงต่อคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง(สตอร์มเสิร์จ) ซึ่งเกิดจากลมพายุ ซึ่งไม่ใช่คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวทั้งนี้แผ่นดินไหวไม่สามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้เหมือนสึนามิ โดยหากเกิดสึนามิขึ้นในมหาสมุทรอินเดียจะมีเวลาแจ้งเตือนภัยประมาณ 1-3 ชั่วโมง ขึ้นกับจุดที่เกิดเหตุในทะเลดังนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันซึ่งจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิจะต้องให้ความใส่ใจกับการแจ้งเตือนสึนามิจากทางการอยู่ตลอดและเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นต้องรีบถอยห่างจากชายฝั่งทันทีแล้วมุ่งสู่ที่ปลอดภัยซึ่งหมายถึงที่สูงซึ่งน้ำท่วมไปไม่ถึง ประชาชนจึงควรศึกษาเส้นทางหนีภัยและซักซ้อมการหลบภัยในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับเส้นทางหลบภัยสำหรับการก่อสร้างอาคารในเขตเสี่ยงภัยสึนามิจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยมีแนวทางปฏิบัติประกอบด้วย 1.หลีกเลี่ยงการก่อสร้างอาคารในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยตามแนวชายฝั่งในระยะ 3-4 กิโลเมตรหากจำเป็นต้องก่อสร้างควรก่อสร้างอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรง 2.ควรเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่ควรก่อสร้างอาคารไม้หรือโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบาเพราะอาจจะถูกคลื่นพัดพาลอยไปตามกระแสน้ำได้ง่าย3. ฐานรากควรเป็นเสาเข็ม หรือฐานรากแผ่ที่ฝังในชั้นดินที่แข็งแรงเพื่อให้อาคารยึดกับฐานรากอย่างมั่นคงไม่ลอยไปตามกระแสน้ำหากเป็นฐานรากแผ่จะต้องฝังฐานรากให้ลึกลงไปใต้ระดับดินเดิมอย่างน้อย 1.5 เมตรถ้าวางตื้นกว่านั้น มีโอกาสที่คลื่นจะกัดเซาะดินใต้ฐานรากออกไปทำให้อาคารทรุดพังหรือล้มได้ 4.ชั้นล่างของอาคารควรปล่อยให้เป็นที่โล่งเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้โดยสะดวกไม่ควรก่อกำแพงมาต้านทานแรงดันน้ำเด็ดขาด เพราะมวลน้ำที่ทะลักเข้ามามีปริมาณมหาศาลแต่ควรใช้วิธีการลดแรงดันน้ำโดยปล่อยให้น้ำไหลผ่านตัวอาคารไปได้อย่างสะดวกแทนโดยไม่พัดพาเอาตัวบ้านไปด้วย 5. ไม่ควรก่อสร้างห้องใต้ดินเนื่องจากอาจมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ยินการแจ้งเตือนภัยสึนามิและเป็นสถานที่ที่มีโอกาสถูกน้ำท่วมได้ง่าย 6. การก่อสร้างควรใช้ระบบเทในที่ และหลีกเลี่ยงการใช้พื้นสำเร็จรูปเพราะพื้นอาจหลุดออกจากโครงสร้างหลักได้ง่าย7. ควรใช้วัสดุที่มีคุณภาพดีในการก่อสร้าง เนื่องจากการก่อสร้างใกล้ชายทะเลเหล็กเสริมอาจเป็นสนิมได้ง่าย ทำให้อายุการใช้งานของอาคารสั้นลง 8. ชิ้นส่วนต่าง ๆของโครงสร้างควรยึดกันอย่างมั่นคง โดยอาศัยเหล็กเสริมยึดชิ้นส่วนต่าง ๆเข้าด้วยกัน 9.ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำสำหรับรูปแบบและการก่อสร้างอาคารทั่วไปที่เหมาะสมในเขตเสี่ยงภัยสึนามิระดับปานกลาง  พ.ศ. 2551 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง    

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นักวิชาการแนะให้ความสำคัญต่ออาคารเสี่ยงภัย

Posts related