ชื่นชมกับนักวิจัยไทย ที่วันนี้…เรียกได้ว่าเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับแถวหน้าของภูมิภาคอาเซียน ล่าสุด… 2 นักวิจัยไทยได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในอาเซียน เพื่อยกย่องความสามารถการทำงานวิจัยเพื่อส่วนรวม ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียน ในสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา รางวัลแรกคือ“ASEAN-US Science Prize for Women”  ประจำปี 2557 ซึ่งมอบให้กับ “ดร.ณัฏฐพร พิมพะ”  นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) พร้อมคณะนักวิจัยห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนไฮบริดและนาโนคอมพอสิท สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.)  จากผลงานวิจัย “เทคโนโลยีไส้กรองนาโนจากเซรามิกเคลือบเงินสำหรับเครื่องผลิตน้ำดื่มสะอาดแก่ชุมชนในช่วงอุทกภัย” รางวัลนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดขึ้นร่วมกันระหว่างอาเซียนและประเทศสหรัฐอเมริกา  เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับนักวิจัยสตรีดีเด่นของภูมิภาคอาเซียน ที่มีผลงานทั้งในด้านการวิจัยจนถึงการนำเอามาใช้ประโยชน์ได้จริง  ซึ่งปีนี้เลือกงานวิจัยหลักเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ  เพื่อแสดงถึงความพยายามของอาเซียน ที่จะพัฒนาสมรรถภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภูมิภาคเพื่อการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทั้งภูมิภาค ดร.ณัฏฐพร บอกว่า งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยมุ่งเป้าในเรื่องน้ำสะอาด เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติมีน้ำดื่มสะอาดได้จริง โดยนำนาโนเทคโนโลยี มาช่วยทำให้ระบบกรองน้ำหรือเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโนที่ทำจากเซรามิกเคลือบเงินมีการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และร่วมกับสภากาชาดไทย ต่อยอดนำไปใช้จริง โดยผลิตเป็นเครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยไส้กรองนาโน สำหรับใช้ในภาวะฉุกเฉินหรือประสบภัยพิบัติ  โดยสามารถผลิตน้ำสะอาดได้ประมาณ  200 ลิตร ต่อชั่วโมง ช่วยผู้ประสบภัยได้มากกว่า 1,000 คนต่อวัน ปัจจุบันเครื่องดังกล่าวได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้สภากาชาดไทย นำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป ส่วนอีกหนึ่งรางวัลที่น่าภาคภูมิใจไม่แพ้กันก็คือรางวัล “The ASEAN Meritorious Service Award” (AMSA) ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างคุณประโยชน์แก่ภูมิภาคอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผู้ได้รับรางวัลนี้ก็คือ “ดร.ธีรยุทธ  ตู้จินดา” นักวิจัยอาวุโส จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)สวทช. และรองผู้อำนวยการ หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยร่วมระหว่างไบโอเทค และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการใช้ดีเอ็นเอเทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธ์ุพืช โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยใช้โมเลกุลเครื่องหมายช่วยในการคัดเลือก (Marker assisted selection) ร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐาน เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะตามต้องการและลดระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ ดร.ธีรยุทธ บอกว่า ได้รับรางวัลนี้ เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยช่วยทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ให้มีความสามารถในการใช้ดีเอ็นเอเทคโนโลยีในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของแต่ละประเทศ ให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย และต้านทานต่อ โรคและแมลงที่สำคัญ ที่ผ่านมาร่วมกับกรมการข้าวและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยทำการปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี สายพันธุ์ข้าวที่พัฒนาได้อย่างเช่น พันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วม และ พันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ “ธัญสิริน” ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจดสิทธิเรื่องการพัฒนายีนความหอมของข้าวและร่วมกับกรมการข้าวพัฒนาข้าวทนแล้ง ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบในพื้นที่ปลูกจริง ส่วนการขยายความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาบัณฑิตและโครงสร้างพื้นฐาน ให้กับบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ  ทั้ง เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งมีพันธุ์ข้าวในแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันมีการพัฒนาข้าวเมียนมาร์สายพันธุ์ MK-75 ที่มีคุณภาพเหมือนข้าวบาสมาติและต้านทานโรคขอบใบแห้ง ข้าวกัมพูชาทนแล้งสายพันธุ์ CAR3 ที่มีคุณภาพหุงต้มดี ข้าวเหนียว สปป.ลาว สายพันธุ์  TDK1 ที่มีคุณภาพหุงต้มดี และต้านทานต่อโรค และ IR57514 ที่ทนน้ำท่วม ทนแล้ง และต้านทานโรคไหม้  ซึ่งมีการเผยแพร่และเริ่มปลูกกันอย่างกว้างขวางในแต่ละประเทศ ดร.ธีรยุทธ บอกอีกว่า งานวิจัยนี้ได้กลายเป็นโมเดลความร่วมมือในภูมิภาคที่หน่วยงานให้ทุนวิจัยต่าง ๆ นำไปใช้ในภูมิภาคอื่น ๆ ..แม้ไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าจะได้รับรางวัลนี้ แต่ก็ดีใจ และหวังว่าอย่างน้อยอนาคตผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ จะมีการให้ความสำคัญกับงานวิจัยแบบนี้มากขึ้น  และสามารถต่อยอดความร่วมมือสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างยั่งยืน. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นักวิทย์อาเซียน

Posts related