ณ เวลานี้ คนไทยส่วนใหญ่ต่างออกอาการ “ใจจดใจจ่อ” ว่า บรรดาผู้บริหารประเทศชั่วคราวที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ส่งมาให้บริหารบ้านเมืองในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น จะเป็นใคร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำรัฐบาล เพราะเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ได้…  ดังนั้นการเข้ามาของรัฐบาลชั่วคราวจึงกลายเป็นภาระที่หนักเพราะถูกจำกัดด้วยระยะเวลา หากนานไปความเชื่อมั่นของต่างชาติจะยิ่งหดหาย แต่หากเข้ามาเพียงชั่วคราวแล้วสามารถเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดหรือเซตซีโร่ ได้เป็นผลสำเร็จ ก็สามารถเข้าไปอยู่ในใจของคนไทยได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 อย่างไรก็ดีก็เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศต่างรอคอย…ต่างตั้งความหวังกับบุคคลที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกฯ ตัวจริงเสียงจริง ตามระบอบประชาธิปไตย  โอกาสนี้ “ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์” จึงออกสำรวจความเห็นของคนไทยบางกลุ่มบางคนเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ภาพนายกฯ ในฝันของคนไทยที่ต้องการนั้นเป็นอย่างไร รวมไปถึงข้อเสนอแนะที่คนไทยต้องการให้รัฐบาลคนใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหารู้เรื่องเศรษฐกิจ  เริ่มจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ ส.อ.ท. โดย “สุพันธ์ มงคลสุธี” หัวเรือใหญ่ของ ส.อ.ท. ที่มองว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น  ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศที่ขณะนี้ชะลอตัวอย่างมาก จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคเอสเอ็มอี ที่เริ่มทยอยปิดกิจการอย่างต่อเนื่องแล้ว รวมทั้งขอให้มีความเป็นกลางไม่เข้าข้างใครข้างหนึ่ง และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย   ที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งการยึดอำนาจครั้งนี้ก็เหมือนการเซตซีโร่ เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด อยากให้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสที่ทำให้ประเทศไทยเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่ดี ๆ ที่ถูกต้อง อะไรที่บิดเบี้ยวมานานก็ขอให้แก้ไขใหม่ทั้งหมด เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็ว รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง  เพราะหยั่งรากฝังลึกมานาน และเป็นจุดต้นตอของเหตุการณ์ครั้งนี้สังคมยอมรับได้  เช่นเดียวกับ “อธิป พีชานนท์” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ที่เห็นว่า ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ คนใหม่นั้น สิ่งสำคัญคือต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นนายกฯ ที่เป็นคนกลาง แต่งตั้งเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าครั้งนี้ ก็ต้องการให้รีบทำพันธกิจให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการปฏิรูปให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา ซึ่งยอมรับว่าคงทำได้ไม่ง่ายนัก ต้องยอมรับว่า นายกฯ คนกลางนั้น คงเข้ามาบริหารประเทศให้เศรษฐกิจเดินหน้าไม่ได้มากนัก เพราะมีเวลาจำกัด และมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำก่อน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา ซึ่งอาจทำให้การเดินหน้าอนุมัติโครงการต่าง ๆ คงทำไม่ได้  แต่หากหมดพันธกิจของนายกฯคนกลางแล้ว เมื่อมีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องเร่งเข้ามาบริหารประเทศให้เดินหน้าต่อให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะมีอำนาจบริหารงานเต็มที่ และอยู่นานตามวาระ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนต่างชาติได้ดีกว่า  ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลอะไรในช่วงนี้ ขอแค่ให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ก็พอแล้ว กล้าเปลี่ยนแปลง  ไม่แตกต่างกับ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทโตชิบาและประธานกรรมการบริหาร สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ที่เห็นว่า นายกฯ คนใหม่ต้องเป็นคนที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สามารถคุมระบบทุกอย่างในประเทศ ทั้งระบบการปกครอง-กฎหมาย รวมถึงระบบราชการ ที่สำคัญต้องกล้าเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเดิมที่ฝังรากอยู่ในสังคมไทยมานาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากมาก โดยเมื่อเข้ามาแล้วนอกจากเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น ฟื้นระบบเศรษฐกิจแล้ว ต้องเข้ามาดูแลปัญหาระบบการศึกษา เพราะการพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างและพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลส่วนใหญ่มักจะละเลย แต่การแก้ไขนี้ต้องใช้เวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อหวังผลการทำงานระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่ “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด มองว่า นายกฯที่ตัวเองอยากได้ต้องไม่เป็นนักการเมือง เพราะนักการเมืองมักจะมีขั้ว และก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ในอนาคต หากอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ซึ่งจะทำให้ปัญหาการเมืองไทยไม่มีวันจบสิ้นได้ นายกฯคนใหม่ต้องรักชาติมาก มากจนกล้าจะเอาตัวเองเข้ามาเสี่ยง คือต้องเป็นคนที่เก่งและกล้า เพราะคนที่เก่งบางทีไม่กล้าที่จะแก้ปัญหาที่มีความขัดแย้งสูง หรือคนที่กล้าบางคนไม่เก่ง ก็ช่วยเหลือประเทศไม่ได้ นอกจากนี้การตัดสินใจต้องฉับไวด้วย และเมื่อเข้ามาบริหารงานแล้วต้องเร่งดูแลคือการฟื้นฟูปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังมานาน ถัดมาคือการหาเงินมาจ่ายค่าจำนำข้าวให้แก่ชาวนาทั่วประเทศ เพราะสองสิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นสภาพคล่องและผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาขับเคลื่อนได้ดังเดิม ส่วนปัญหาอื่น ๆ เช่น การแก้ไขกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญน่าจะทยอยทำหลังจากนี้ได้ เหลียวแลท่องเที่ยว  “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า บอกว่า ในภาคของการท่องเที่ยวแล้ว ไม่เกี่ยงว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกฯคนใหม่ เพราะรับได้หมด แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อเข้ามาแล้วต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการท่องเที่ยวในไทยให้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงตัวของรัฐมนตรีที่จะเข้ามากำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ด้วย เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากไม่ต่างจากภาคการส่งออก ขณะเดียวกันนโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจนเพื่อให้การทำงานร่วมกันระหว่างเอกชนและภาครัฐมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถขับเคลื่อนรายได้ให้ได้ตามเป้าหมาย คือ 2.2 ล้านล้านบาทในปี 58 ต้องเหมาะสม หันมาที่ภาคตลาดทุน อย่าง “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย บอกว่า นายกฯ ที่อยากได้คือ คนที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในการเข้ามาบริหารประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบที่ผ่านมาอีก ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นแก้ปัญหาเก่าแล้วเกิดปัญหาใหม่ขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหากได้นายกฯ ที่มีอำนาจเต็มมาบริหารประเทศ จะส่งผลให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะเวลานี้ปัญหาของประเทศยังมีหลายอย่างที่ต้องเร่งแก้ไข สำหรับสิ่งที่อยากเห็นหลังการเข้าดำรงตำแหน่งคือ ดำเนินงานด้วยวิธีไหนก็ได้ เพื่อให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเคลื่อนไหวไปข้างหน้าได้เร็วที่สุด เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มต้องเร่งดำเนินการ ทั้งการสร้างความเชื่อมั่น การบริหารงาน การเดินหน้างบประมาณ การพิจารณาการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินงานได้ตอนนี้ เพราะเปิดรัฐสภาไม่ได้ พิจารณาอะไรไม่ได้เลย ทำให้ทุกอย่างสะดุดไปหมด นอกจากนี้ยังต้องมีเรื่องของการปฏิรูปประเทศเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวแบบรอบด้าน ทั้งด้านตลาดทุน เศรษฐกิจ และสังคมด้วย ซึ่งถือเป็นแผนเร่งด่วนที่ทางตลาดทุนมีการร่างไว้เบื้องต้น เพื่อรอรัฐบาลอำนาจเต็มเข้ามาจะเสนอให้พิจารณาในทันที ทันสมัย วิสัยทัศน์กว้าง  ขณะที่ตลาดเงินเองก็ต้องการนายกฯ ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เช่นกัน โดย “เวทย์ นุชเจริญ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีความทันสมัย เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การแข่งขันในเวทีโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น ต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยพัฒนาประเทศ และต้องเป็นบุคคลที่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านเศรษฐกิจเข้ามาบริหารงาน ส่วนความรู้ด้านการเมืองเชื่อว่าผู้นำประเทศมีอยู่แล้ว รวมทั้งต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ สำหรับสิ่งแรกที่อยากให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาดูแลคือ เรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณถ้ามีเม็ดเงินออกมาจะทำให้โครงการต่าง ๆ เดินหน้าได้เต็มที่ และก่อให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนในระบบเศรษฐกิจ และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งยอมรับว่าปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะขยายการลงทุนเพิ่ม เพราะไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ และต้องการดูความชัดเจนก่อน ขณะเดียวกันอยากให้รัฐปฏิรูปในจุดที่บกพร่องเพื่อประเทศชาติ มีทีมเศรษฐกิจเก่ง  ขณะที่นักวิชาการอย่าง “วชิร คูณทวีเทพ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า นายกรัฐมนตรีในฝันที่อยากได้คงหนีไม่พ้นเรื่องความมีคุณธรรมในการบริหารประเทศ และต้องเป็นคนที่ปลอดการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่สำคัญเมื่อเข้ามาแล้วสามารถที่จะแก้ปัญหาหรือลดปัญหาความขัดแย้งของคนในประเทศได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ โดยบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะมาจากกลุ่มไหนก็ได้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักวิชาการ อดีตข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ หรืออดีตนักการเมือง เป็นต้น โดยนายกฯ คนใหม่ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นหากนายกฯไม่เก่งด้านเศรษฐกิจก็ควรเลือกรองนายกรัฐมนตรี หรือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่เก่งด้านนี้จริง ๆ มาทำงาน เพราะในภาวะแบบนี้ต้องอาศัยคนเก่งและเป็นที่ยอมรับในวงการเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องของชาวนาที่ไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว, แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมถึงค่าครองชีพที่ปรับตัวสูง และสุดท้ายต้องหามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซบเซามาก แก้ไขปัญหาปากท้อง  หันมาที่รากหญ้าชาวบ้านธรรมดาสามัญอย่าง “ธงชัย รักษาพันธ์” เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ประจำกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อยากได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีความสามารถและทำงานโดยสุจริต ไม่มีการเอื้อเฟื้อผลประโยชน์ให้กับญาติพี่น้องหรือพวกพ้อง แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ที่กำหนดกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะเชื่อว่าหากนายกรัฐมนตรีสามารถทำได้ จำนวนเงินดังกล่าวที่หายไปก็จะกลับมาถึงมือพี่น้องประชาชน รวมทั้งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ปัจจุบันประชาชนได้แบ่งเป็นหลายกลุ่มหลายก้อนให้มีความสามัคคีกันเหมือนเดิม สำหรับสิ่งเร่งด่วนที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่รีบเร่งดำเนินการ คือการมุ่งมั่นตั้งใจแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน เนื่องจากปัจจุบันแม้ค่าแรงจะปรับขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำที่ได้วันละ 300 บาท แต่ราคาสินค้าได้ปรับขึ้นตามไปด้วย โดยควรเข้าไป ดูถึงราคาสินค้าที่ปรับขึ้นว่ามีการปรับราคาเกินจริงหรือไม่ เพราะบางรายสินค้าก็ปรับราคาสูงเกินไป หากเทียบกับการใช้จ่ายในปัจจุบันแค่ซื้อข้าวรับประทานเพียง 2 มื้อก็ต้องใช้เงินเกิน 100 บาท ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ยังมีเหลือเก็บไว้ เหมือน ๆ กับ “เทพนม จาตุรงคกุล” เจ้าของร้านอาหารย่านวงเวียนเล็ก ธนบุรี บอกว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในช่วงต่อจากนี้ ยังไม่เห็นว่ามีใครเหมาะสม แต่เท่าที่ดูจากข่าวการตั้งนายกฯ คนกลาง ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่พูดคุยกันมาก ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าการมีนายกฯ คนกลางก็ดี แต่ต้องเป็นคนที่คนส่วนใหญ่รับได้ เพราะไม่อยากได้นายกฯ ที่มาจากพรรคการเมืองทุกพรรค เมื่อได้แล้วก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวบ้าน  เพราะตั้งแต่ปีที่แล้วเศรษฐกิจไม่ดีมาก ๆ คนไม่จับจ่ายใช้สอย หรือถ้าจะจับจ่ายจริงก็จ่ายกันน้อย เพราะทุกคนระวังการใช้เงินมากขึ้น เนื่องด้วยภาระหนี้ที่เกิดขึ้นมาก เห็นได้จากตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เคยมารับประทานอาหารที่ร้านก็ค่อย ๆ ลดลง ขณะที่ต้นทุนทุกอย่างภายในร้านก็เพิ่มขึ้นสวนทางกัน ดังนั้นหากเป็นไปได้ก็อยากให้ผู้นำประเทศคนใหม่ช่วยแก้ปัญหานี้ให้ประชาชนก่อน ส่วนเรื่องการปรองดอง สร้างบรรยากาศความสามัคคีกัน คงแก้ได้ยาก เพราะตอนนี้สังคมแตกแยก และต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่าจะทำให้กลับมาเหมือนเดิม ทั้งหมด…เป็นเพียงแค่ความคิดความเห็นจากมุมเล็ก ๆ ของตัวแทนนักธุรกิจในแต่ละด้าน รวมไปถึงชาวบ้านที่ต้องหาเช้ากินค่ำที่ได้ระบายความรู้สึกที่แท้จริงว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่พวกเขาเหล่านี้ต้องการนั้นเป็นอย่างไร?.  ทีมข่าวเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นายกฯคนใหม่ที่คนไทยฝันถึง สังคมยอมรับ-รู้เรื่องเศรษฐกิจ

Posts related