นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ภาครัฐต้องทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อปี 57 โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน และงบประมาณปี 58 ส่วนแรก ซึ่งรวมกันกว่า 400,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการภาษีนั้น แม้จะตอบโจทย์เรื่องความเป็นธรรม แต่เป็นมาตรการที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินงานในระยะสั้น รัฐบาลต้องสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ด้วยการปลดล็อคใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ซึ่งขณะนี้มีโรงงานที่สร้างแล้วเสร็จ รอเปิดกว่า 800 แห่ง ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน ตลอดจนดำเนินการต่อเนื่องไปถึงในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งอาจจัดให้เป็นมาตรการระยะกลาง ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนอกจากนี้ ต้องใช้โอกาสช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยอำนวยความสะดวก สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว เน้นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากบริษัทประกันไม่คุ้มครองให้นักท่องเที่ยว ที่เข้ามาเที่ยวในประเทศที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ดังนั้นหากรัฐบาลเร่งรัดปลดล็อคแก้ไขในส่วนนี้ได้อย่างเร่งด่วน จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ที่ก่อเกิดรายได้ให้ประเทศได้มากขึ้น"การที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจได้นั้น จำเป็นต้องใช้การดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างกระทรวง เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันนั้น ซึ่งนับเป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลต้องใส่ใจ และต้องเร่งดำเนินมาตรการที่มุ่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว”ที่สำคัญ ต้องให้ตอบโจทย์เป้าหมายทางเศรษฐกิจ 3 เรื่องหลัก คือ เศรษฐกิจเติบโตในอัตราสูง ซึ่งจะก่อเกิดการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้ ,กระจายรายได้เท่าเทียม นั่นคือประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ และสุดท้าย คือรักษาเสถียรภาพระดับราคาและค่าเงิน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ที่พึ่งพาภาคต่างประเทศ 72% และพึ่งพาภายในประเทศ 28% โดยต้องให้เกิดความผันผวนของค่าเงินน้อยที่สุด ในระดับที่ผู้ประกอบการรับได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก และธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ส่วนเงินเฟ้อนั้น ควรกำกับให้อยู่ในกรอบทั้งนี้ ตามกรอบเป้าหมายทางเศรษฐกิจนั้น บางเรื่องสามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น บางเรื่องต้องใช้เวลานาน ถึงจะสัมฤทธิ์ผล เช่น ในส่วนของเป้าหมายการกระจายรายได้เท่าเทียมนั้น ต้องใช้เวลานานในการดำเนินการ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุผล อาทิ การแก้ปัญหาในภาคเกษตรกร ควรจะดำเนินมาตรการเพื่อการเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตร เพราะนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลก่อเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน และยังตอบโจทย์เป้าหมายการกระจายรายได้ไปพร้อมกันด้วย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นิด้าแนะรัฐเร่งเบิกจ่ายหนุนเอกชน

Posts related