ดิ้นกันยังกับไส้เดือนถูกขี้เถ้า เมื่อมีการประกาศรายชื่อ บอร์ด ปตท.ชุดใหม่ออกมาสัปดาห์ที่แล้ว นำโดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน สมัยรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี คุณปิยสวัสดิ์ถูกโจมตีอย่างหนักว่าไม่เหมาะสมกับตำแหน่งกรรมการของบริษัท ปตท. ด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้างต่าง ๆ นานา แต่ไม่มีใครกล้าออกมาโจมตี หรือระบุเลย    ว่าคุณปิยสวัสดิ์ไม่มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการ หรือแม้กระทั่งประธานกรรมการของบริษัท ปตท.  ข้อที่หยิบยกขึ้นมาโจมตีคุณปิยสวัสดิ์เป็นหลักกลับเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.พลังงานในอดีต โดยเฉพาะเรื่องการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมก่อนกำหนดหมดอายุเป็นเวลานานให้กับบริษัท เชฟรอน และการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 20 ที่มีการให้สัมปทานกันในสมัยของท่านมากถึง 30 แปลง ซึ่งถือว่ามากที่สุดกว่ายุคสมัยของรัฐบาลชุดใด ข้อกล่าวหาทั้งหมดได้ถูกนำมาปลุกระดมผ่านโลกออนไลน์ โดยหวังว่าจะสามารถสร้างเป็นกระแสสังคมเพื่อบีบ คสช. ให้เปลี่ยนใจ  แต่เคราะห์ดีที่ คสช. มีความหนักแน่น จึงสั่งให้ทั้งสามท่าน ออกมาแถลงข่าวชี้แจงข้อกล่าวหาและบอกกล่าวถึงสิ่งที่ท่านตั้งใจจะเข้าไปทำในฐานะบอร์ดของ ปตท. เพื่อแก้ไขสิ่งต่าง ๆ หรือเรื่องที่ยังค้างคาใจสังคมให้มีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น ส่วนข้อกล่าวหาในเรื่องการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแก่บริษัทเชฟรอน ก่อนหมดอายุสัมปทานเป็นเวลาหลายปี และเรื่องการเปิดแหล่งสัมปทานเป็นจำนวนมากนั้น เพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน ผมอยากเรียนให้ทราบความเป็นมาดังนี้ 1. การต่ออายุสัมปทานดังกล่าวเป็น การต่ออายุตามสัญญาที่ผู้ประกอบการมีสิทธิ   ที่จะได้รับการต่ออายุอยู่แล้ว และบริษัทที่ได้รับการต่ออายุมีอยู่สองบริษัทคือ บริษัท เชฟรอนและบริษัท ปตท.สผ. ไม่ใช่เชฟรอน บริษัทเดียว 2. เหตุที่ต้องต่ออายุก่อนกำหนดเป็นระยะเวลานาน เป็นเพราะขณะนั้นประเทศไทยมีความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นสูงมาก ปตท.ได้ติดต่อขอซื้อก๊าซจากผู้ผลิตเพิ่มขึ้นจากวันละ 750 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน เป็น 1,250 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ทำให้ผู้ประกอบการทั้งสองรายต้องลงทุนเพิ่มเป็นวงเงินสูงมาก รัฐบาลจึงต้องสร้างความมั่นใจให้โดยการต่ออายุสัมป ทานก่อนกำหนด 3. การเปิดให้สัมปทานเป็นจำนวนมากถึง 28 แปลงในรอบที่ 20 ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือความต้องการก๊าซของเราเพิ่มขึ้นสูงมาก ถ้าเราไม่เร่งเปิดสัมปทานให้มีการขุดเจาะและสำรวจ เราก็จะมีก๊าซไม่พอใช้ และเหตุการณ์ในปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่าป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะในจำนวน 28 แปลงที่ให้สัมปทานไปนั้น สำรวจไม่พบปิโตรเลียมและต้องคืนพื้นที่ให้กับรัฐมาแล้วถึง 18 แปลง คงเหลือที่ยังคงสำรวจอยู่เพียง 10 แปลง และในจำนวนนี้พบก๊าซธรรมชาติขนาดเล็กอยู่เพียงแปลงเดียว ทั้งหมดนั้นก็คือคำตอบว่าทำไม ดร.ปิยสวัสดิ์ รมว.พลังงานในขณะนั้นจึงต้องเร่งรัดในเรื่องการต่ออายุสัมปทานและการเปิดสัมปทานอย่างมากมาย ความจริงควรถือว่าเป็นผลงานของท่านเสียด้วยซ้ำไป ผมจึงแปลกใจมากว่าสมัยที่รัฐบาลชุดที่แล้ว เอาแต่แต่งตั้งคนของตนเข้ามาเป็นกรรมการหรือประธานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ คนที่ออกมาประท้วง ดร.ปิยสวัสดิ์เหล่านี้เขาหายไปไหน หรือเขาเห็นว่านักการเมืองหรือนอมินี ของนักการเมืองเหล่านั้นดีกว่าและเหมาะสมกว่า ดร.ปิยสวัสดิ์ !!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บอร์ด ปตท.ชุดใหม่:ไม่ถูก คนหรือไม่ถูกใจ? – พลังงานรอบทิศ

Posts related