ยุคนี้เป็นยุคปฏิรูปอะไร ๆ ก็ต้องปฏิรูป วันก่อนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลงลิตรละ 5 บาท และให้ชะลอการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนออกไปก่อนพร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานไทย แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปพลังงานไทยก็คือการปฏิรูปโครงสร้างองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่เป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่ง    ชาติหรือกพช. ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.คณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีจำนวนทั้งสิ้น 19 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯรองนายกฯที่นายกฯมอบหมายเป็นรองประธานฯ นอกจากนั้นก็ประกอบไปด้วย รมว.สำนักนายกฯและรมว.กระทรวงอื่น ๆ อีก 11 คน เป็นกรรมการ มีข้าราชการประจำ 5 คน เป็นกรรมการ โดยมีผอ.สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานเป็นกรรมการและเลขานุการ จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้มีสัดส่วนของนักการเมืองสูงมาก (13 ใน 19 คน หรือ 68%) และมีข้าราชการประจำอยู่เพียง 5 คน หรือ 32% ดังนั้นการดำเนินนโยบายทางด้านพลังงานของไทยจึงตกอยู่ภายใต้การชี้นำการบริหารและการแทรกแซงจากนักการเมืองอยู่ตลอดเวลา เพราะข้าราชการประจำที่มีอยู่เพียง 5 คน ก็คงไม่สามารถทัดทานอะไรนักการเมืองได้ (ถึงมีสัดส่วนมากกว่านี้ ก็คงไม่กล้าทัดทานอะไรมากนัก) ทำให้นโยบายทางด้านพลังงานหลายเรื่องต้องถูกบิดเบือนเพื่อสนองตอบต่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง และนโยบายประชานิยมเฉพาะหน้าจนทำให้มีปัญหาในระยะยาว อย่างเช่นการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีอย่างยาวนานมาเป็นเวลานับสิบปีหรือการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท มาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นถ้าเราจะเริ่มการปฏิรูปพลังงานไทยกันอย่างจริงจังผมก็อยากเสนอให้เริ่มที่การปฏิรูปโครงสร้างองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกันก่อน โดยอยากเสนอให้มีการแก้ไขพ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้ กพช. มีองค์ประกอบที่หลากหลายมากขึ้นโดยลดสัดส่วนของนักการเมืองลงให้เหลือเฉพาะ นายกรัฐมนตรี รองนายกฯและรมว.กระทรวงสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องจริง ๆ ไม่เกิน 5-6 กระทรวง คงสัดส่วนของข้าราชการประจำเอาไว้เหมือนเดิมแล้วไปเพิ่มสัดส่วนกรรมการในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ องค์กรเอกชน สื่อมวลชนตัวแทนผู้บริโภค และตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น  ผมคิดว่านี่เป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปพลังงานในบ้านเราครับโดยเริ่มต้นจากการปฏิรูปโครงสร้างการกำหนดนโยบายพลังงานเป็นอันดับแรกให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ดีกว่าไปเรียกร้องเรื่องลดราคาพลังงานซึ่งเป็นเรื่องปลายเหตุครับ!!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ปฏิรูปพลังงานไทย – พลังงานรอบทิศ

Posts related