เราคงคุ้นเคยกับนโยบายประชานิยมด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมด้านราคาสินค้าการเกษตร หรือนโยบายประชานิยมอื่น ๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน รถยนต์คันแรก ฯลฯ แต่เราคงไม่คุ้นกับคำว่าประชานิยมด้านพลังงาน และนึกไม่ถึงว่าประเทศไทยก็มีโครงการประชานิยมด้านพลังงานเหมือนกับประเทศที่เขาร่ำรวยพลังงานอย่างเช่น ซาอุดี อาระเบีย หรือเวเนซุเอลาเหมือนกัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย (โดยนโยบายประชานิยมด้านพลังงานของรัฐบาลหลาย ๆ ชุดที่ผ่านมา โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) ได้ใช้เงินภาษีอากร เงินกองทุนน้ำมันฯ (ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันบางประเภทในราคาสูงอย่างไม่เป็นธรรม) และเงินอุดหนุน (อย่างไม่เต็มใจ) จากผู้ประกอบการเอกชน รวมกันแล้วมากถึงเกือบ 900,000 ล้านบาท ในการอุดหนุนราคาพลังงานบางประเภท เช่น ก๊าซแอลพีจี, ก๊าซเอ็นจีวี และน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น ท่านจะตกใจไหมครับ หลายท่านอาจจะไม่เชื่อ แต่หลายท่านอาจไม่แปลกใจอะไร เพราะท่านคือหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์จากการที่รัฐบาลตรึงราคาหรืออุดหนุนราคาพลังงานให้อยู่ในระดับต่ำ แต่ความจริงก็คือนโยบายประชานิยมด้านพลังงานเหล่านั้นทำให้ประเทศชาติเสียหายในระยะยาว ที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ การบริโภคพลังงานอย่างฟุ่มเฟือยและไร้ประสิทธิภาพ และรัฐบาลได้ตรึงราคาและมีการอุดหนุนราคาเอาไว้อย่างยาวนาน ตัวอย่างเช่นการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือนพุ่งขึ้นจาก 1.5 ล้านตัน/ปี ในปี 2547 เป็น 3.0 ล้านตัน/ปี ในปี 2555 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 21% เลยทีเดียว เช่นเดียวกันกับการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่ง การใช้ก็พุ่งขึ้นจาก 2 แสนตัน/ปี ในปี 2547 เป็น 1.8 ล้านตัน/ปี ในปี  2556 เติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 26% ซึ่งปริมาณการใช้ในภาคนี้พอ ๆ กับการนำเข้าก๊าซแอลพีจีของไทยในแต่ละปี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านตัน/ปี ส่วนน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลตรึงราคาไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทมาเป็นเวลา 3 ปีกว่าแล้วนั้น ปริมาณการใช้ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากก่อนตรึงราคายอดการใช้อยู่ที่ 52 ล้านลิตร/วัน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 60 ล้านลิตร/วัน หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 5% ในขณะที่ยอดการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ไม่เพิ่มขึ้นเลย จะเห็นได้ว่านโยบายประชานิยมด้านพลังงานนั้น นอกจากจะทำให้เราต้องสูญเสียเงินตราในการนำเข้าพลังงานเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราต้องใช้จ่ายเงินอย่างมากมายมหาศาลในการตรึงหรืออุดหนุนราคาพลังงานให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งได้ใช้พลังงานในราคาถูกอย่างไม่เป็นธรรม มีอดีต ส.ว. ท่านหนึ่งกล่าวว่าการอุดหนุนราคาพลังงานของไทยไม่ใช่ประชานิยมเพราะเป็นการเอาเงินของประชาชน (จากกองทุนน้ำมันฯ) มาอุดหนุนกันเองนั้น ผมอยากเรียนว่าท่านเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะนอกจากเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ 200,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีเงินภาษีสรรพสามิต มาตรึงราคาดีเซลอีก 330,000 ล้านบาท และยังมีส่วนของภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ และปตท.ที่ต้องขายก๊าซแอลพีจีหน้าโรงกลั่นฯ หน้าโรงแยกก๊าซ และก๊าซเอ็นจีวี ตามราคาที่รัฐบาลกำหนดคือ 333 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และ 10.50 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน และเป็นส่วนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระการขาดทุนโดยไม่ได้รับการชดเชยใด ๆ จากรัฐบาลเลย รวมทั้งสิ้นเป็นเงินร่วม 350,000 ล้านบาท นับจากปี 2547-2556 แล้วอย่างนี้ท่านยังจะบอกว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือประชาชนเลย มันจะไม่อคติกันมากไปหน่อยหรือครับ!!!

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ประชานิยมด้านพลังงาน – พลังงานรอบทิศ

Posts related