ก้าวเข้าสู่ปีใหม่แล้ว แต่หัวใจของนักลงทุนยังคงเต้นรัวไม่เป็นจังหวะ มิหนำซ้ำบางรายอาจต้องพกยาดม ยาหอมไว้ติดตัวตลอดเวลา เพราะการลงทุน และการแสวงหาผลกำไรจากตลาดหุ้นไทย ทองคำ รวมถึงค่าเงินบาทในปี 57 นี้ ไม่ได้มาแบบปอกกล้วยเข้าปากอีกต่อไป เนื่องจากยังต้องเผชิญขวากหนามที่เป็นตัวฉุดรั้งจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เต็มไปด้วยแรงเหวี่ยง และความผันผวนที่คาดเดาทิศทางได้ยากจนหักปลายปากกาเซียนหลายสำนักเหมือนปี 56 ที่ผ่านมา ความผันผวนของการลงทุนที่เกิดขึ้น ล้วนแขวนไว้กับกระแสเงินทุนต่างชาติ … ซึ่งหมายความว่า เมื่อเงินทุนต่างชาติไหลทะลักเข้ามาเก็งกำไรไม่ว่าจะในตลาดหุ้น หรือแม้แต่ตลาดทองคำ ก็จะทำให้ดัชนีตลอดจนราคาพุ่งพรวดดีดตัวขึ้นได้ร้อนแรง เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่เมื่อใดก็ตามที่เงินทุนไหลเข้ามาเป็นสายน้ำ จะเป็นตัวหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งโป๊กขึ้นทันที ทั้งที่บางครั้งก็ไม่มีปัจจัยอื่นใดมาเป็นแรงหนุนสำคัญ ดังนั้น เงินทุนต่างชาติจึงเปรียบเสมือนคลื่นขนาดยักษ์ที่คอยถล่มการลงทุนเป็นระยะ ปัจจัยที่ถือเป็นตัวแปรหลักทำให้ต่างชาติขนเงินมาลงทุนในตลาดไทยมากมาย จนกลายเป็นผู้กุมทิศทางการลงทุน คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่างสหรัฐ ต้องงัดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือที่รู้จักกันติดปากว่า “มาตรการคิวอี” ซึ่งเป็นรูปแบบของการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบต่อเนื่อง  ในการผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่ซบเซาให้ผงกหัวขึ้นได้ โดยได้มีการใช้มาตรการคิวอีมาตั้งเดือนปลายเดือนพ.ย. 51 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่า เมื่อเงินทุนต่างชาติไม่สามารถแสวงหาผลกำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ในสหรัฐได้ ก็ย่อมมองหาทางเลือกอื่นและในประเทศอื่น ๆ ที่ให้กำไร  ดังนั้น ประเทศในเอเชียและไทย จึงเนื้อหอมขึ้นมาทันที เพราะเป็นตลาดที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ดี ทำให้เงินที่มีอยู่ล้นระบบไหลทะลักเข้ามาลงทุน จนทำให้ตลาดหุ้นไทยดีดตัวร้อนแรง ขณะที่ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันก็คึกคักไม่แพ้กัน ในช่วงที่ทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทย หลายคนก็หลงระเริงไปกับดัชนีขาขึ้น แต่อย่าลืมว่า…เงินที่ไหลเข้ามานั้น ส่วนใหญ่เป็นเงินร้อน หรือฮอต มันนี่ ที่หาแหล่งพักและทำกำไร เพราะสุดท้ายแล้วยาขนานเอกที่สหรัฐอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบก็ต้องทยอยลดและล้มเลิก หากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นชัดเจน และเมื่อถึงเวลานั้นเงินร้อนก็จะไหลกลับไปยังสหรัฐหรือประเทศที่ให้ผลตอบแทน ดีกว่า นอกจากนี้ ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ล่าสุดเมื่อวันที่ 17-18 ธ.ค.56 ที่ไฟเขียวให้ปรับลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบเดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเดือนละ 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่ระดับ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะดีเดย์ตั้งแต่เดือนม.ค.57 เป็นต้นไป ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เงินร้อนไหลออกเร็ว แม้เฟดออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่าจะลดขนาดมาตรการคิวอีในเดือนม.ค.57  ทว่า ตลาดหุ้นไทยกลับไม่ตื่นตระหนก และต่างชาติไม่ได้เทกระจาดอย่างหนัก เพราะต่างก็รับรู้ในเรื่องดังกล่าวไปในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว แต่จำเป็นต้องเกาะติดสถานการณ์แบบใกล้ชิด เพราะถือเป็นความเสี่ยงที่เข้ามาสร้างแรงเหวี่ยงให้หุ้นไทย นอกจากนี้ ต้องจับตาสถานการณ์การเมืองไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงด้วย จะเห็นได้ว่าในปี 57 นี้ หุ้นไทยยังต้องเจอกับแรงถ่วงนานัปการ ไม่เฉพาะเรื่องการทยอยลดมาตรการคิวอี การเมืองในประเทศ ยังรวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ส่อเค้าชะลอตัว แต่บรรดาโบรกเกอร์หลายสำนักยังมองว่าหุ้นไทยมีโอกาสขยับขึ้นได้ โดยนักวิเคราะห์ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า ปีนี้ปัจจัยเรื่องการเมืองในประเทศจะเป็นตัวหลักที่กดดันการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากกว่าเรื่องลดขนาดคิวอี ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่ เพราะจะมีผลกระทบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวไว้ที่ 1,220-1,500 จุด ด้าน บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ดัชนีจะอยู่ที่ 1,600 จุด และ ช่วงไตรมาส 1 ของปี 57 แนะนำเนนหุนที่มีแนวโนมกําไรชัดเจน และมีปจจัยกระตุนกําไรที่มีความสัมพันธกับแนวโนมเศรษฐกิจตางประเทศ มากกว่าเศรษฐกิจในประเทศ  รวมถึงควรเข้าซื้อหุ้นที่อิงตลาดในประเทศ และมีโครงสร้างธุรกิจแข็งแกร่งด้วย เช่นเดียวกับ บล.เอเซีย พลัส ที่ระบุว่า หุ้นที่น่าสนใจในปีนี้ น่าจะเป็นหุ้นปันผล กองทุนรวม และตราสารหนี้ เนื่องจากภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะไม่ค่อยหวือหวามากนัก มาดูตลาดทองคำกันบ้าง ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการลดขนาดคิวอีของสหรัฐเช่นกัน เพราะมีแนวโน้มแกว่งตัวผันผวนไม่ต่างจากปี 56 ที่สำคัญจะเป็นขาลงอย่างชัดเจน ซึ่งอาจดับฝันหลายคนที่คาดว่าทองจะขยับขึ้นไปในระดับสูงสุดเหมือนเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 56 ในราคาบาทละ 24,350 บาท แต่มีโอกาสลงไปใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดเดิมเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 56 ที่บาทละ 17,800 บาท อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง จะเป็นพระเอกที่ช่วยไม่ให้ราคาทองคำในประเทศปรับลดรุนแรง แม้ทองในตลาดโลกจะลดลงก็ตาม ขณะที่ศูนย์วิจัยทองคำ ประเมินว่า ราคาทองจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,160-1,360 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือบาทละ 18,000-20,000 บาท แต่ราคาทองคำโลกจะไม่ปรับลงต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์อย่างแน่นอน เนื่องจากมีต้นทุนหน้าเหมืองกดดันอยู่ ส่วนความกังวลเกี่ยวกับมาตรการคิวอีนั้น มองว่าการที่สหรัฐได้ตัดสินใจลดการเข้าซื้อพันธบัตรลง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนนั้น ยังอยู่ในกรอบที่ได้คาดการณ์ไว้แล้ว เพราะเศรษฐกิจสหรัฐสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ต้องติดตามในอนาคตว่าการดำเนินมาตรการคิวอียังเป็นการลดแบบค่อยเป็นค่อย ไปหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น จะทำให้ราคาทองปรับตัวลดลงแบบจำกัด แต่ถ้ามีมาตรการยุติไปเลย คาดว่าราคาจะลดแบบรุนแรง  “นักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุนทองคำ ควรจัดสรรพอร์ตให้ดีและขายทำกำไรระยะสั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยแนะนำให้นักลงทุนที่ถือทองคำอยู่ในช่วงบาทละ 20,000-23,000 บาท แบ่งขายเพื่อนำเงินมาลงทุนทำกำไรในช่วงราคาทองคำยังเป็นช่วงขาลง แม้จะขาดทุนก็ตาม ส่วนนักลงทุนที่ถือทองคำอยู่ในช่วงบาทละ 24,000-26,000 บาท ควรรอดูสถานการณ์ในระยะยาว” ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทนั้น ก็ผันผวนไม่แพ้ตลาดหุ้นและทองคำ เพราะหลายสำนักประเมินว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง หลังจากเฟดประกาศชัดเจนในการถอนคิวอี 3 รอบแรกในเดือน ม.ค. 57 ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนและการลงทุนในตลาดตราสารต่างๆ เริ่มไหลออกจากไทยและประเทศอื่นในภูมิภาค แต่การอ่อนค่าลงของเงินบาทจะปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากตลาดตอบรับสถานการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกันจะมีเงินไหลเข้ามาลงทุนโดยตรง เพื่อหวังให้ไทยเป็นฐานการผลิตทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลี และจีน เป็นต้น เพราะฉะนั้นจะมีแรงขายดอลลาร์สหรัฐ และมีแรงซื้อเงินบาทเช่นเดียวกัน ทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่าเร็วหรือแรงมาก โดยประเมินว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปัจจัยหลักที่มีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทของไทย หากดูปัจจัยภายในประเทศแล้ว ยังไม่มีแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้มีความผันผวน แม้จะมีปัญหาทางการเมือง ขณะเดียวกันต้องติดตามภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรของสหรัฐครั้งแรกในเดือน ม.ค. ปี 57 รวมถึงแนวโน้มนโยบายดอกเบี้ยที่เฟดยังประกาศว่าจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นตัวกดดันให้ค่าเงินบาทผันผวนได้ในระยะสั้น ๆ  เห็นได้จากช่วงต้นปี 56 ค่าเงินแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 28.50 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ และกลับมาอ่อนค่าอยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ในมุมมองของสถาบันการเงินยังยืนยันว่า หลังจากนี้ไปยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงแนะนำให้ผู้ประกอบการซื้อขายดอลลาร์ล่วงหน้า ตลอดจนทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพื่อประคับประคองธุรกิจในยามที่ค่าเงินมีความไม่แน่นอนสูง ไม่ว่าปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศที่เกิดขึ้น จะเข้ามาสะเทือนหรือเขย่าขวัญนักลงทุนมากน้อยแค่ไหน หากเรามีการวางแผนการลงทุนให้ดี และตั้งสติรับมือกับพายุที่ซัดเข้าหา รวมถึงปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่พลิกผัน และเกาะติดสถานการณ์แบบไม่กะพริบตา เชื่อว่าคงมีโอกาสโกยกำไรในภาวะความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ หรือหากเผชิญกับภาวะขาดทุน ก็คงไม่เจ็บตัวมากนัก. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ปีม้าห้น-ทอง-ค่าบาทผันผวนหนัก

Posts related