นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ในปี 57 อยู่ที่ 2.00-2.80% โดยมีสมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เฉลี่ย 3.0-5.0% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 95-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 29-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ  รวมถึงรัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่อครองชีพ ได้แก่ รถโดยสารประจำทางและรถไฟชั้น 3 ไม่เสียค่าใช้จ่าย การอุดหนุนน้ำมันดีเซล การอุดหนุนการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามิเตอร์ขนาด 5 แอมแปร์ไม่เกิน 50 หน่วย อย่างไรก็ตาม หากสมมติฐานไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ โดยมาตรการลดค่าครองชีพถูกยกเลิกทั้งหมดพร้อมกัน จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อประมาณ 1.3-1.4% ซึ่งมีโอกาสทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีรวมอยู่ที่ระดับ 3.00-3.80%  แบ่งเป็นหากมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 1% ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลเป็นตัวที่มีน้ำหนักสูงที่สุด ขณะที่รถไฟฟรีจะกระทบเงินเฟ้อ 0.18% รถประจำทางฟรี 0.11% ค่าไฟฟ้า 0.068% และค่าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 0.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ เดือนธ.ค. 56 เท่ากับ 106.01 สูงขึ้น 1.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  เมื่อรวมทั้งปี 56 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยสูงขึ้น 2.18%  ต่ำสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 53 เป็นต้นมา และเป็นอัตราเพิ่มแบบชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ  ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ และการใช้จ่ายในครัวเรือนที่ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน  นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงปีต้นที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลง รวมถึงกรณีราคาสินค้าเกษตรสำคัญปรับลดลง  เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากความต้องการซื้อจากต่างประเทศลดลง จึงส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ซึ่งอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 2.10-2.60%   สำหรับสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีราคาสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวสารเจ้าสูงขึ้น 0.02% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 0.40% เครื่องประกอบอาหารสูงขึ้น 0.33% และอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น 0.34% ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มดัชนีสูงขึ้น 0.22% จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 1.51%   “อัตราเงินเฟ้อในปี 56 อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจชะลอตัวและราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง รวมทั้งยังมีมาตรการลดค่าครองชีพมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ส่วนในปี 57 คงต้องจับตามองมาตรการค่าครองชีพต่างๆ ว่ารัฐบาลใหม่จะคงมาตรการดังกล่าวไม่หรือไม่ ซึ่งหากมีการยกเงิกทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน”  นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน  กล่าวถึงแผนการดูแลราคาสินค้าในปี 57 หลังจากมาตรการขอความร่วมมือตรึงราคาจะสิ้นสุดในเดือนธ.ค.56 ว่า แนวโน้มราคาสินค้าในปี 57 ในช่วงต้นปีจะยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อราคาสินค้า ทั้งวัตถุดิบและค่าแรงงานยังทรงตัวอยู่ในระดับเดิม ขณะที่น้ำมันดิบดูไบ คาดว่าจะอยู่ที่ 95-115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดีเซลในประเทศทรงตัวอยู่ที่ 29.99 บาทต่อลิตร จึงไม่มีผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาจำหน่ายสินค้า “จากปัจจัยเรื่องต้นทุนที่ไม่ขยับขึ้น บวกกับช่วงต้นปี เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการมีการลด แลก แจก แถม เพื่อกระตุ้นยอดขายช่วงปีใหม่ ทำให้มีการแข่งขันกันสูง ประกอบกับเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อผู้บริโภคไม่ค่อยมี ภาวะราคาสินค้าก็จะยังทรงๆ ตัว แรงกดดันในเรื่องการปรับราคาจึงยังไม่มี” อย่างไรก็ตาม หากสินค้ารายการใดมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา กรมฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณาให้ แต่ต้องยื่นแสดงภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นประกอบการพิจารณา และการปรับราคาต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคมากจนเกินไป 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปีม้าแตะ2.8%

Posts related