รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า  จำนวนผู้ว่างงานในไตรมาส1/57 ที่เพิ่มขึ้นมามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 344,000 คนต่อเดือน  เพิ่มขึ้น 28.2% หรือประมาณ 75,700 คน  จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 269,000  คนต่อเดือน  ทำให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยขยับขึ้นมาที่ 0.9% หากเทียบกับช่วงเดียกวันของปีก่อนอยู่ที่   0.7% เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม  ประกอบกับ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้ภาคเกษตรกรรม(ซึ่งเคยเป็นสาขาที่มีการจ้างงานสูงที่สุด) ไม่สามารถดูดซับแรงงานส่วนเกินได้มากนัก  ดังนั้นคาดว่าอัตราการว่างงานในปีนี้อาจขยับขึ้นมาที่0.8% จากกรอบคาดการณ์ในช่วง 0.7-1.0%  ขณะที่ปี 56 อยู่ที่  0.7%  โดยจำนวนผู้ว่างงานอาจปรับขึ้นมาที่320,000 คนต่อเดือน จากกรอบ 290,000-380,000 คน   จากปี 56 อยู่ที่282,000  คน       “ ความตึงตัวของตลาดแรงงานไทยยังมีอยู่โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานพื้นฐาน คืองานสกปรก งานยาก  และงานอันตราย  รวมถึงงานที่ไม่ต้องการทักษะที่ซับซ้อนมากนักในภาคบริการเช่น งานแม่บ้าน และงานบริกร เป็นต้น และกลุ่มแรงงานกึ่งทักษะที่มีความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีรวมทั้งกลุ่มแรงงานทักษะสาขาวิชาชีพเฉพาะที่น่าจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนเพิ่มมากขึ้นเช่นกันขณะที่ระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานปริญญาตรีในสาขามนุษย์ศาสตร์  สังคมศาสตร์ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด อาจเผชิญปัญหาความยากลำบากในการหางานทำเนื่องจากมีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนมากเมื่อเทียบกับตำแหน่งงาน” นอกจากนี้เห็นว่า ในระยะยาวโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและผลิตภาพแรงงานเป็นโจทย์สำคัญที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งวางแนวทางแก้ไขเพื่อเพิ่มแต้มต่อและรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของประเทศท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่อาจเข้มข้นมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 สำหรับผลิตภาพแรงงานไทยหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพตลาดแรงงานใกล้เคียงกันนั้น  ไทยด้อยทักษะด้าน ภาษาต่างประเทศการใช้คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และ  สภาพแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วทำให้การพัฒนาทักษะแรงงานเทคโนโลยีในหลายๆ สาขาอุตสาหกรรมไม่มีความต่อเนื่อง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พิษการเมือง-ศก.ตัวเลขว่างงานเพิ่ม

Posts related