น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างประเทศ อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต) ของไทยในอนาคต หากประเทศขาดรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารงานอย่างแท้จริง จนก่อให้เกิดความอ่อนแอในการกำหนดกรอบนโยบายทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจตึงเครียดและยืดเยื้อที่บั่นทอนแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินในระยะกลาง รวมทั้ง ระดับหนี้สาธารณะของไทยอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของภาระผูกพันที่อาจก่อให้เกิดหนี้ ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือ “แนวโน้มด้านการเมืองในระยะใกล้ยังคงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะความตึงเครียดทางการเมืองที่ยืดเยื้อขึ้นอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจยาวนานขึ้นและบั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาด ทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ส่งผลให้ ฟิทช์ คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย (จีดีพี) ปี 57 อยู่ที่  2.5% และปี 58 อยู่ที่ 3.7% เมื่อเทียบกับการเติบโตของปี 56 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.9% ทำให้อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 5 ปี ลดลงอยู่ที่ 3% ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ บีบีบี และ เอ และในที่สุดอาจจะสร้างแรงกดดันต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ” อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ฟิทช์ฯ ยังคงเครดิตของไทยไว้ โดยยืนยันเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ ที่ระดับ บีบีบี บวก และสกุลเงินบาทของรัฐบาล ที่ระดับ เอ ลบ และมุมมองที่มีเสถียรภาพ รวมทั้ง ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิ์สกุลเงินตราต่างประเทศ ที่ระดับ บีบีบี บวก และสกุลเงินบาท ที่ระดับ เอ ลบ และยืนยันเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาล ที่ระดับ เอฟ 2 และเพดานเครดิตประเทศ ที่ระดับ เอ ลบ ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการยืนยันเครดิตและแนวโน้มเครดิตในครั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีสถานะภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่งและกรอบนโยบายทางการเงินที่มั่นคง รวมทั้ง ตัวชี้วัดหลักด้านการคลังภาครัฐอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนที่เกิดจากการลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐ (คิวอี) และความตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศที่ได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นเดือนพ.ย.56 ขณะเดียวกัน  ภาคการคลังของไทยเกือบทั้งหมดยังคงมีเสถียรภาพ โดยสัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อจีดีพี อยู่ที่ 31.9% ณ สิ้นปีงบประมาณ 56 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ บีบีบี และ เอ โดย ฟิทช์ฯ มองว่า ในระยะสั้นนี้ ความผันผวนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นได้จำกัดอำนาจรัฐบาลรักษาการในการดำเนินการตามแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ซึ่งจะหักกลบกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่อาจลดลง รวมถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านรายได้และรายจ่าย อาจทำให้ความน่าเชื่อถืออ่อนแอลง หากไทยไม่สามารถผลักดันมาตรการและการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตได้สำเร็จ 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ฟิทช์อาจลดเครดิตไทยหากไม่มีรัฐบาลบริหารงาน

Posts related