ดอยช์โพสต์ ดีเอชแอล ผนึก  UNDP  จัดเวิร์กช็อปเตรียมความพร้อมให้สนามบินรับมือภัยพิบัติ  “Get Airports Ready for Disaster”  ครั้งที่  2  ในฟิลิปปินส์ขยายผลจากความสำเร็จในการปฏิบัติงานของทีมรับมือภัยพิบัติดีเอชแอลในเมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เพิ่มศักยภาพของสนามบินให้มีความพร้อมรับมือภัยพิบัติ  ดอยช์โพสต์ดีเอชแอล ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(United Nations Development Program หรือ UNDP)จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเตรียมความพร้อมให้สนามบินหลังเกิดภัยพิบัติ หรือ “Get Airports Ready for  Disaster” (GARD) ครั้งที่  2 ที่สนามบินแมคตันเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้พนักงานที่ปฏิบัติงาน ณ สนามบินมีความพร้อมในการจัดการระบบโลจิสติกส์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงสามารถดูแลสิ่งของและผู้โดยสารที่มาถึงสนามบินเป็นจำนวนมากภายหลังการเกิดภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 52 คน ประกอบด้วยพนักงานจากส่วนงานต่าง ๆ ของการท่าอากาศยานแมคตันเซบู อาทิ การปฏิบัติการภายในสนามบิน การควบคุมการสัญจรทางอากาศ การรักษาความปลอดภัย รวมทั้งพนักงานจากหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการช่วยเหลือภายหลังการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้สนามบินหลังเกิดภัยพิบัติ หรือ GARD จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่สนามบินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติให้มีขีดความสามารถในการดูแลและบริหารคนและสิ่งของที่มีจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพหลังจากมีภัยพิบัติเกิดขึ้น ทั้งนี้พนักงานของดีเอชแอลที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการภัยพิบัติได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรอาสาสมัคร เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมโดยไม่คิดค่าบริการ ขณะที่ UNDP จะทำหน้าที่ดูแลและบริหารโครงการ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานของทางราชการที่เกี่ยวข้องและให้ทุนสนับสนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเวิร์กช็อปดังกล่าว คริสทอฟ เออร์ฮาร์ท รองประธานบริหาร/ฝ่ายสื่อสารองค์กรและความรับผิดชอบระดับองค์กรต่อสังคม ดอยช์โพสต์ ดีเอชแอล กล่าวว่า การจัดการประชุมสัมมนาดังกล่าวทำให้ดอยช์โพสต์ ดีเอชแอล สามารถทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์และกำหนดศักยภาพของสนามบินในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งยังร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจัดทำพิมพ์เขียวสำหรับพื้นที่แต่ละจุด เพื่อรองรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ล่าสุดจากประสบการณ์ในการรับมือพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนทำให้การอบรมครั้งนี้ได้มุ่งเน้นติดอาวุธให้ทีมงานที่ปฏิบัติการประจำสนามบินนานาชาติแมคตันเซบูมีทักษะในการจัดการโลจิสติกส์เครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยอื่น ๆ ที่ได้จัดส่งมาถึงสนามบินหลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โจ ชูเออร์ ผู้ประสานงานเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติทั่วโลกแห่ง UNDP กล่าวว่า ความร่วมมือกับดีเอชแอลครั้งนี้ทำให้เรามีโอกาสเตรียมความพร้อมให้แก่สนามบินต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น โดยในแต่ละประเทศที่เราได้จัดทำโครงการ GARD ขึ้นนั้น การจัดเวิร์กช็อปเป็นหนึ่งในหลากหลายกิจกรรมที่เราจัดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติรวมถึงช่วยพันธมิตรป้องกันกำจัด และเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ   ไนเจล พอล ซี.วิลลาเรท ผู้จัดการทั่วไป สนามบินนานาชาติแมคตันเซบู กล่าวว่า ประเทศของเราตั้งอยู่ในแนววงแหวนการเกิดแผ่นดินไหว ทั้งยังอยู่ในแนวเข็มขัดไต้ฝุ่นซึ่งในแต่ละปี มีพายุไต้ฝุ่นเกิดขึ้นประมาณ 80 ลูกบนน่านน้ำเขตร้อนชื้น ทั้งนี้ผลกระทบที่ได้รับจากภัยธรรมชาติดังกล่าวทำให้เราต้อง เตรียมความพร้อมให้มากยิ่งขึ้นในกรณีที่ต้องเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันในอนาคต การจัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ GARD มีขึ้นในสนามบินของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 23 แห่ง ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย (ปี 2552, 2554 และ 2555) เนปาล(2553) บังกลาเทศ (2554) เลบานอน (2555) ตุรกี (2555) เอล ซัลวาดอร์ (2556)  ฟิลิปปินส์(2556) ปานามา (2556) อาร์เมเนีย (2556) และเปรู (2557).

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ฟิลิปปินส์เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

Posts related