อาหารตามท้องตลาดที่เราบริโภคกันเป็นประจำทุกวันนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นประเภทต้ม ยำ แกง ทอด แต่ที่น่าเป็นกังวลอย่างมากในตอนนี้คือ คนไทยส่วนมากเคยชินกับการทานของทอดต่าง ๆ เพราะหาซื้อรับประทานได้ง่าย ก็พบว่ายังมีร้านที่ยังคงใช้น้ำมันทอดซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งมีอันตรายส่งผลต่อผู้บริโภค

น้ำมันปกติที่ใช้ในการทอดครั้งหรือสองครั้ง อาจยังไม่น่ากลัวเท่าน้ำมันที่ผ่านการทอดซ้ำ จนสังเกตเห็นได้ว่าน้ำมันนั้นมีสีเข้มออกไปทางสีดำ

ซึ่งน้ำมันทอดซ้ำจะมีคุณสมบัติที่เสื่อมลง ไม่ว่าจะเป็นสี กลิ่น หรือรสชาติ โดยในระหว่างการทอดจะมีสารโพลาร์ที่เกิดจากการแตกตัวของน้ำมันเกิดขึ้น

หากสะสมในร่างกายและส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ โดยจะเป็นสารก่อให้เกิดกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังในสัตว์ทดลอง

ส่วนไอระเหยจากน้ำมันทอดอาหารหากมีการสูดดมต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เกิดโรคมะเร็งปอด และมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเนื้องอกในตับ ปอด และมะเร็งเม็ดเลือดขาว หากรับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรสังเกตและปฏิบัติดังนี้ 1. ไม่ซื้ออาหารทอดจากร้านค้าที่ใช้น้ำมัน ที่มีกลิ่นเหม็นหืน มีลักษณะเหนียวสีดำคล้ำ มีฟองมาก เหม็นไหม้ 2. ไม่ควรใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำเกินสองครั้ง หากต้องใช้ซ้ำให้เทน้ำมันเก่าทิ้งหนึ่งในสาม และเติมน้ำมันใหม่ก่อนเริ่มการทอดอาหารครั้งต่อไป 3. ไม่ทอดอาหารไฟแรงเกินไป

4. ซับน้ำส่วนเกินบริเวณผิวหน้าอาหารดิบก่อนทอดเพื่อชะลอการเสื่อมสลายตัวของน้ำมัน และทอดอาหารครั้งละไม่มากเกินไป และหมั่นกรองกากอาหารทิ้งระหว่างและหลังการทอดอาหาร

5. ควรเปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารบ่อยขึ้นหากต้องทอดอาหารประเภทเนื้อที่มีส่วนผสมของเกลือหรือเครื่องปรุงรสปริมาณมาก6. ปิดแก๊สทันทีหลังทอดอาหารเสร็จ

หากอยู่ระหว่างช่วงพักการทอด ควรหรี่ไฟลงหรือปิดเครื่องทอดเพื่อชะลอการเสื่อมสลายตัวของน้ำมันทอดอาหาร 7. เก็บน้ำมันที่ผ่านการทอดอาหารไว้ในภาชนะสเตนเลสหรือแก้วปิดสนิทในที่เย็น และไม่โดนแสงสว่าง

8. ล้างทำความทำสะอาดกระทะหรือเครื่องทอดอาหารทุกวัน 9. หลีกเลี่ยงการใช้กระทะเหล็ก ทองแดง ทองเหลือง หรืออะลูมิเนียมในการทอดอาหาร เพราะจะไปเร่งการเสื่อมสลายของน้ำมันทอดอาหาร

10. ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันทอดอาหารเป็นระยะ ๆ สารโพลาร์ไม่ควรเกิน 25 กรัม/100 กรัมของน้ำมัน สารโพลิเมอร์ไม่เกิน 10 กรัม/100 กรัม ของน้ำมัน หรือจุดเกิดควันไม่ต่ำกว่า 170 องศาเซลเซียส หากเกินค่าที่กำหนดควรเปลี่ยนน้ำมันใหม่

ทั้งหมดนี้คือคำแนะนำเพื่อให้ผู้บริโภคจะได้ระมัดระวังมากขึ้น และจะได้หลีกเลี่ยงจากอันตรายที่อาจส่งผลต่อชีวิตและสุขภาพ

เพื่อความปลอดภัยและมีความสุขในการรับประทานอาหารอย่างไม่ต้องกังวล.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ภัยจากน้ำมันทอดซ้ำ – ไขปัญหาผู้บริโภค

Posts related