อีกไม่ถึง 2 เดือน… เมืองไทยจะก้าวเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น ซึ่งเป็นฤดูกาลที่บรรดาภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และภาครัฐเองต่างเฝ้ารอ เพราะคาดหวังว่าเป็นช่วงที่มีเงินตราต่างประเทศจากนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้องหยุดชะงักไปจากเหตุปัจจัยการเมืองในประเทศ  แต่ความคาดหวังที่ว่า…อาจไม่ง่ายนัก… ที่จะได้ดั่งใจหวังไว้ เพราะในเวลานี้ “เค้าลาง” สารพันปัญหาด้านการท่องเที่ยวกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจัยลบในประเทศ และปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎเหล็กอย่าง “กฎอัยการศึก” ที่ ณ วันนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.ได้ชี้แจงว่ายังเป็นเรื่องจำเป็นต่อการทำงาน ที่สำคัญไม่ได้มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน รวมถึงมั่นใจว่าชาวต่างชาติส่วนใหญ่ก็เข้าใจอยู่แล้ว ในมุมมองของ คสช. เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวมากนัก แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ทุกวันนี้ยังมีรัฐบาลต่างประเทศอีก 60 ประเทศ ที่ยังไม่ได้ยกเลิกการออกประกาศเตือนพลเมืองของตัวเองในการเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทยเลย และมีเพียงส่วนน้อยเพียง 7 ประเทศเท่านั้น ที่ได้ยกเลิกประกาศเตือน สอดคล้องกับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทย ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. ที่ผ่านมา ยังคงติดลบถึง 10.47% โดยมีเพียง 13.62 ล้านคน  จริงอยู่แม้ว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา การทำงานของ คสช. จะได้ใจคนไทยไปในหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวนา บรรดาผู้ใช้รถโดยสาร ทั้งรถแท็กซี่ รถตู้ รถจักรยานยนต์ ลูกหนี้นอกระบบ บรรดาข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น เรื่องของมาเฟียตามสถานที่ท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ หรือการกวาดล้างชายหายที่บดบังทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงการดึงดูดการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง ด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนและไต้หวัน เป็นเวลา 3 เดือนในช่วงไฮซีซั่นนี้ หลังจากที่นักท่องเที่ยวจีนหดหายไปมาก ตลอดจนการอนุมัติงบประมาณให้อีก 200 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนในการรับประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยให้วงเงินคุ้มครองสูงสุดถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแคมเปญเด็ดที่จะดึงดูดและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น แต่การที่ประเทศไทยยังอยู่ในภาวะที่ไม่เป็นสากล ทำให้นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศกลับยังไม่ยอมรับ แม้จะเข้าใจถึงสภาพการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตาม จึงส่งผลให้ไทยอาจต้องพลาดโอกาสสำคัญ และทำให้แผนการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอาจไม่เป็นอย่างใจหวังไว้..    เพราะไม่เพียงแค่ปัจจัยภายในประเทศเท่านั้น ปัจจัยลบภายนอก อย่างเรื่องของนักท่องเที่ยวรัสเซีย ที่เป็นตลาดหลักอันดับ 2 รองจากประเทศจีน ที่ได้รับผลกระทบการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากทางชาติตะวันตก ทำให้เศรษฐกิจในประเทศถดถอยเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวจากที่เคยท่องเที่ยวข้ามทวีป ต้องชะลอการเดินทางทันที หรือ แม้จะต้องการเที่ยว แต่บริษัททัวร์บางบริษัท ที่แบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ไม่ไหว ได้ทยอยปิดกิจการลง และบางแห่งถึงขั้นลอยแพ นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ต่างประเทศ เพราะต้นทุนสำหรับรับผู้โดย สารลำเลียงกลับมาไม่คุ้มค่า   ขณะที่ความคาดหวังการพึ่งพิงตลาดนักท่องเที่ยวยุโรป ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพที่ใช้จ่ายสูงก็เริ่มยากขึ้นเพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังไม่คลายกังวลในเรื่องความปลอดภัยอยู่ ชาวยุโรปจึงหนีหาย และตัดสินใจเดินทางไปเที่ยวประเทศอื่นแทนโดยเฉพาะ “เพื่อนบ้านอาเซียน” ทั้งเวียดนาม เมียน มาร์ ที่แม้สาธารณูปโภคพื้นฐานอาจไม่พร้อมเท่าไทย แต่ด้วยความสดใหม่ ความปลอดภัยในแง่การเมือง ถือว่าได้เปรียบ กว่ามาก ดังนั้น… นักท่องเที่ยวที่เคยเลือกอยู่เมืองไทยเป็นเวลานานถึง 15 วัน ก็เลือกที่จะเดินทางไปเที่ยวเวียดนามมากขึ้น โดยลดจำนวนวันที่จะอยู่เมืองไทยลง นั่นหมายความว่า รายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศก็ย่อมน้อยลงไปด้วย ด้วยปัจจัยลบและกระแสต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา ถือว่าเป็นช่วงเวลาไฮซีซั่นที่น่าหวั่นใจอย่างยิ่ง และต้องลุ้นกันว่า ปีนี้ภาคท่องเที่ยวไทยจะออก “หัวหรือก้อย” เพราะต้องยอมรับว่า การคาดหวังให้จำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งทะยานได้เท่าปีที่แล้วหรือมากกว่าปีที่แล้ว ก็คงหวังได้จากในช่วงไฮซีซั่นที่กำลังจะมาถึงนี้เท่านั้น! หากยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวหรือฉกฉวยโอกาสนี้กลับมาได้อีก อาจทำให้เป้าหมายรายได้ที่ทุกฝ่ายลดลงมาแล้วเหลือเพียง 1.9 ล้านล้านบาท ไปไม่ถึงฝั่งฝันก็เป็นได้  แม้ช่วงเวลานี้…คนไทยทุกคนกำลังรอคอยหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่อยู่ก็ตาม แต่เรื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและเกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยหลายด้าน ดังนั้นจึงต้องจับตาดูและวัดฝีมือรัฐบาลชุดใหม่ว่า จะเรียกนักท่องเที่ยวกลับคืนมาได้มากน้อยหรือไม่!!.  เอวิกานต์ บัวคง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : มรสุมรุมกระหน่ำท่องเที่ยว ดับฝันเพิ่มรายได้ช่วยศก.

Posts related