เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการใช้สิทธิพิเศษประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทยส่งออกไปยุโรปจำนวน 723 ราย จะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ม.ค. 58 เพราะไทยจะเปลี่ยนจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-ค่อนข้างต่ำ มาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงเป็นเวลาต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน จึงทำให้บรรดาผู้ส่งออกต่างกังวลใจเพราะต้องเสียภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยกันทีเดียว และนั่นหมายถึง…ศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยจะลดลงโดยทันที สาเหตุหลักเป็นเพราะ… มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ในปีที่ผ่านมาคิดเป็นมูลค่า 42,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นไทยส่งออกไปยุโรป มูลค่า 20,076 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนําเข้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 22,077 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนนี้มีสินค้าของไทยที่ใช้สิทธิจีเอสพี กว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2.8-2.9 แสนล้านบาท สินค้าหลัก ๆ ที่มีการใช้สิทธิจีเอสพี มีทั้ง ยานยนต์, ขนส่ง, กุ้งปรุงแต่ง, ถุงมือยาง, เลนส์แว่นตา, เครื่องปรับอากาศ, ยางนอกรถยนต์, กุ้งแช่เย็นและแช่แข็ง, สับปะรดกระป๋อง, เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดคงที่ และน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งปรับตัว เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน หรือไม่ก็ต้องเร่งหาตลาดใหม่เข้ามาทดแทนตลาดยุโรป เพราะ…เมื่อถึงเวลานั้น! อุตสาหกรรมหลายประเภทของไทยย่อมได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยด้วย แม้ว่าล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่ายอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 57) จะเพิ่มขึ้นถึง 3.6% โดยส่งออกได้ 560,047 คัน ก็ตาม แต่การส่งออกที่ว่าย่อมต้องได้รับผลพวงด้วยระดับหนึ่ง เนื่องจากราคารถยนต์ที่ส่งออกไป ต้องมีราคาสูงขึ้นไปโดยปริยาย แถมยังทำให้ศักยภาพในการทำตลาดในภูมิภาคนั้นลดลงตามไปด้วย ณ เวลานี้ วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ได้รับสิทธิพิเศษ จีเอสพี โดยเสียภาษีเพียง 6.5% เท่านั้น สำหรับรถยนต์ขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2,500 ซีซี หากต้องถูกตัดสิทธิจีเอสพีต้องเสียภาษีเพิ่มเป็น 10% ขณะที่รถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์มากกว่า 2,500 ซีซี หากได้รับสิทธิจีเอสพี จะเสียภาษี 15.4% ถ้าถูกตัดสิทธิเสียภาษีนำเข้าปกติที่ 22% โดยปัจจุบันไทยส่งออกรถยนต์ไปอียู ประมาณ 80,000 คัน หรือเพียง 7.5-8% ของยอดส่งออกรถยนต์ 1.1-1.2 ล้านคันต่อปี ทั้งนี้หากถูกตัดสิทธิจีเอสพีคาดว่ายอดส่งออกรถยนต์ไทยในปี 58 จะลดลงประมาณ 10-15% หรือลดลง 8,000-8,500 คัน เนื่องจากรถยนต์จากไทยราคาจะแพงขึ้น แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของยุโรปเป็นสำคัญ หากเศรษฐกิจยุโรปดี ยอดการส่งออกรถยนต์ไทยคงไม่ลดลง อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นทุนทางภาษีที่ลดลงจากการใช้สิทธิจีเอสพี บรรดาค่ายรถยนต์ต่างนำเงินไปทำโปรโมชั่น ไปจัดแคมเปญ ไปสร้างแบรนด์ เพื่อให้ลูกค้ายุโรปได้รับรู้ว่ารถยนต์ทุกคันที่ผลิตมาจากเมืองไทยนั้นเป็นรถยนต์ที่มีคุณภาพระดับเวิลด์คลาส ดูแล้วเหมือนว่าไม่น่าจะมีปัญหามากนัก เพราะยอดส่งออกรถยนต์ไปยุโรปมีไม่ถึง 10% แต่ก็ถือเป็นตลาดสำคัญที่บรรดาค่ายรถยนต์ได้วางแผนเตรียมการรับมือมาตั้งแต่ปี 55 โดยหันไปให้ความสำคัญกับตลาดอื่นแทน เช่น ตลาดอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ หรือตลาดแอฟริกา เป็นต้น ทั้งนี้ในมุมมองของเอกชน อย่าง “สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. บอกว่า ด้วยการที่สัดส่วนการส่งออกรถยนต์ไปอียูมีเพียง 7% หรือประมาณ 70,000 คัน จึงทำให้มีผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยไม่มากนัก หากยุโรปจะตัดจีเอสพีกับไทย โดยอาจทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ไปตลาดยุโรปในปี 58 ลดลงประมาณ 15% หรือส่งออกได้ประมาณ 60,000 คัน ขณะที่ในภาพรวมของการส่งออกรถยนต์ทั้งระบบน่าจะเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 5% ขณะเดียวกันการถูกตัดจีเอสพีจะทำให้รถยนต์ไทยต้องเสียภาษีเต็มจำนวน “ก่อนหน้านี้ ไทยเคยถูกอียูตัดสิทธิจีเอสพีมาแล้ว ทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ไปอียู ลดลงจาก 110,000 คัน เหลือเพียง 80,000 คัน หรือลดลงไปกว่า 30% แต่การตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้ ไม่น่าจะกระทบมาก เพราะไทยได้กระจายการส่งออกรถยนต์ไปทุกภูมิภาคของโลก ไม่ได้กระจุกตัวเพียงตลาดใดตลาดหนึ่ง ทำให้ยังสามารถเพิ่มยอดส่งออกได้ โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกาเหนือ อาเซียน ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยในปี 2557 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ตั้งเป้าว่า จะมียอดส่งออก 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7%” แม้ว่า…ปัญหาเรื่องการตัดสิทธิจีเอสพีสำหรับภาคยานยนต์ดูแล้วอาจไม่มีปัญหามากนัก แต่ก็ทำให้ศักยภาพการส่งออกของไทยลดลง ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้นทั้งรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่เจรจาเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน ขณะเดียวกันค่ายรถยนต์ต่างมองเหมือนกันว่ายอดขายรถยนต์ในปี 58 จะกลับมาอยู่ที่ 1 ล้านคันได้แน่นอน หลังจากที่การเมืองในประเทศเริ่มสดใส ด้วยเหตุนี้…จึงกลายเป็นความหวังใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย! คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าหลังจากที่เหตุบ้านการเมืองในประเทศต่างสงบนิ่ง เศรษฐกิจและยอดขายในประเทศจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ขณะเดียวกันค่ายรถยนต์ก็คาดว่าในปี 58 ยอดขายในประเทศจะเริ่มกลับมาดีขึ้น ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ทำให้ยอดขายกระเตื้องและขยับขึ้นมาเป็น 1 ล้านคันได้ จากปีนี้ยอดขายรถยนต์ถูกประเมินว่าจะทรุดฮวบลงมาอยู่ที่ 900,000 คันเท่านั้น ดังนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็ยังมีความหวัง. ทีมเศรษฐกิจ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ยานยนต์ปรับตัวรับจีเอสพี หวังยอดขายทะลุล้านคัน
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs