นี่คือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับโรงพยาบาล ที่พัฒนาขึ้นจากความต้องการใช้งานจริง และสามารถใช้งานได้ดีจริง ๆ โดยไม่ต้องพึ่งแต่เทคโนโลยีไฮเทคหรือจ้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์จากภายนอกให้สิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมาก เพราะที่นี่ “ฝ่ายเวชสารสนเทศ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์” เขาพัฒนาเอง และทำมาแล้วกว่า 20 ปี ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ มาดูระบบการทำงานแล้วกว่า 50 ราย “รองศาสตราจารย์ นพ.ธีรสาส์น คีรีรัฐนิคม” รองคณบดีฝ่ายเวชสารสนเทศ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ บอกว่าโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2525 เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากจะเป็นผู้นำในการให้บริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนในจังหวัดภาคใต้แล้ว ยังเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ เป็นโรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ทางการแพทย์ และเป็นสถานที่ทำวิจัยของบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพต่าง ๆ อีกด้วย ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลขนาด 853 เตียง มีแพทย์กว่า 700 คน รองรับผู้มาใช้บริการผู้ป่วยนอกวันละกว่า 3,500 คน โรงพยาบาลเริ่มมีการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ HIS (Hospital Information System) ขึ้น ตั้งแต่ปี 2535 โดยเริ่มจากการใช้งานในแผนกผู้ป่วยนอก ก่อนที่จะขยายไปจนครอบคลุมทุกส่วนทั้งแผนกผู้ป่วยใน การใช้งานของแพทย์ผู้ตรวจรักษา พยาบาล แผนกยา การเงิน แม้กระทั่งการสั่งอาหาร สั่งผ้าและขอเปลคนไข้ที่รันตามคิวแบบอัตโนมัติ เรียกว่าข้อมูลเกือบทั้งหมด กว่า 99% อยู่บนระบบดิจิตอล ไม่ต้องใช้กระดาษ ส่วนที่ยังจำเป็นต้องใช้กระดาษก็คือ การสรุปและการเซ็นอนุญาตผ่าตัดของคนไข้ ที่กฎหมายยังไม่รองรับลายเซ็นดิจิตอล จุดเด่นของระบบ HIS ก็คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้เองทั้งหมด ทำให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานจริง แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเน้นการใช้งานง่าย และคล่องตัว อย่างเช่น ระบบผู้ป่วยนอก แค่ผู้ป่วยเดินไปแจ้งกับพยาบาลก็สามารถลงทะเบียนในโปรแกรมได้ทันที ที่ห้องตรวจแพทย์จะมีคอมพิวเตอร์แบบ 2 หน้าจอให้ด้านหนึ่งมีโปรแกรม HIS สำหรับดูข้อมูลคนไข้ อีกด้านสำหรับดูข้อมูลเอ็มอาร์ไอ หรือเอกซเรย์ต่าง ๆ แพทย์แค่ล็อกอินโปรแกรม HIS ตรวจรักษา ลงคำวินิจฉัย การสั่งยา หากคนไข้มีประวัติแพ้ยา จะมีป๊อปอัพเตือนขึ้นมาทันที แถมมีรายละเอียดบอกได้ถึงสิทธิของคนไข้ เรียกดูยาเก่า เมื่อแพทย์สรุปข้อมูลการรักษา แจ้งการนัด แล้วยังสามารถบอกค่าใช้จ่ายหรือค่ายาที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีระบบยาออนไลน์ ที่พัฒนาจากระบบการใช้งานจริง จากการสั่งยาตรงมาจากแพทย์ จะมีการพิมพ์ฉลากยาอัตโนมัติ สอดคล้องกับการจัดสต๊อกยา ซึ่งในฉลากยังบอกได้ถึงขนาดว่ายาชนิดนั้น ๆ วางอยู่ที่ตู้ใด ผลของการนำไอทีมาใช้ในแผนกยานี้ ท่านรองคณบดีบอกว่า ทำให้ผู้ป่วยนอกที่มีถึงวันละ 3,500 คน ได้รับบริการที่เร็วขึ้น โดยเฉลี่ยหลังจากแพทย์สั่งยาแล้วจะได้รับยาภายใน 15 นาที และที่สำคัญก็คือความผิดพลาดในการสั่งยาลดลง เนื่องจากไม่ต้องแกะลายมือแพทย์ ส่วนแผนกผู้ป่วยใน มีการนำไอทีไปใช้แพทย์สามารถสั่งและติดตามผลการรักษาด้วยคอมพิวเตอร์บนรถเข็นที่ติดตั้งระบบไวไฟ พยาบาลรับคำสั่งและติดตามผลการรักษาด้วยคอมพิวเตอร์ และจ่ายยาให้ผู้ป่วยด้วยคอมพิวเตอร์บนรถเข็นเช่นกัน ระบบไอทีแบบครบวงจรเหล่านี้ หลายคนคงคิดว่าต้องใช้เงินมหาศาลในการบริหารจัดการแต่ละปี แต่ผู้บริหารที่นี่บอกว่า เสียแค่ปีละประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าเช่าเครื่องเดสก์ทอป อุปกรณ์ และเงินเดือนบุคลากร ที่ปัจจุบันมี 27 คน เป็นโปรแกรมเมอร์ 15 คน ล่าสุด ทางโรงพยาบาลมีแนวคิดที่จะนำ BYOD หรือการให้บุคลากรนำอุปกรณ์ไอทีส่วนตัวมาใช้ในการทำงาน เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบทุกที่ทุกเวลาของแพทย์ “นายโกเมน เรืองฤทธิ์” นักวิชาการคอมพิวเตอร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ บอกว่า ด้วยนโยบายดังกล่าว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ระบบไอทีได้ติดตั้งผลิตภัณฑ์นูทานิกซ์ หรือ Nutanix Virtual Computing Platform ซึ่งสามารถทำงานกับระบบเวอร์ชวลไลซ์เซชั่น ที่เชื่อมต่อแอพพลิเคชั่น HIS ที่พัฒนาบนวินโดว์ส เอ็กซ์พี ได้เป็นอย่างดี โซลูชั่นนี้ช่วยลดความซับซ้อนการเข้าถึงระบบและแอพพลิเคชั่น ทำให้ยูสเซอร์สามารถใช้งานเองได้ จากการอ่านวิธีการใช้ผ่านเว็บบอร์ดของโรงพยาบาล ปัจจุบันมีแพทย์ประมาณ 100-120 คนต่อวันที่เข้าใช้งานผ่านโซลูชั่นของนูทานิกซ์ เพื่อเข้าไปดูเวชระเบียนคนไข้ ผ่านอุปกรณ์ส่วนตัวจากทุกที่ทุกเวลา โดยแพทย์ที่ได้รับอนุญาตใช้งานในปัจจุบันจะสามารถดูข้อมูลได้อย่างเดียว ยังไม่อนุญาตให้ส่งคำสั่งหรือตอบกลับได้ เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลคนไข้ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากนี้ฝ่ายไอทีกำลังทดลองการทำงานแบบซีโร่ ไคเอนท์ ( Zero Client ) เพื่อการขยายการทำงานแบบเวอร์ชวลไลซ์เซชั่น ไปยังทีมงานอื่น ๆ ในโรงพยาบาลต่อไป ด้าน นายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการ นูทานิกซ์ (ประเทศไทย) บอกว่า นูทานิกซ์ เป็นผู้ให้บริการเว็บ-สเกล ที่ผสานรวมโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ทั้งเซิร์ฟเวอร์ระบบประมวลผลและระบบสตอเรจที่จัดเก็บข้อมูลไว้ด้วยกัน โดยเน้นการบริหารจัดการที่ง่าย ประหยัดพื้นที่ และประหยัดพลังงานได้มากกว่าการใช้อุปกรณ์แบบเดิม ๆ 40-60 % นอกจากนี้ยังขยายการใช้งานได้ตามต้องการ จึงเหมาะสำหรับการนำมารองรับการใช้งานด้านเวอร์ชวลไลซ์เซชั่น ซึ่งแต่ละองค์กรเริ่มสนใจที่จะนำ BYOD มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น อย่างไรก็ดี ฝ่ายไอทีกำลังสำคัญของระบบนี้ ยืนยันความสมบูรณ์ของระบบ เป็นผลมาจากนโยบายของผู้บริหาร การพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยตนเอง และที่สำคัญคือการให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ไม่ใช่ซอฟต์แวร์แบบที่จะซื้อที่ไหนก็ได้ อยากเรียก…การพัฒนาระบบไอทีแบบนี้ว่าเป็น “ไอทีแบบพึ่งตัวเอง” ซึ่งยั่งยืนกว่าการซื้ออย่างเดียว!!!. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ระบบไอทีในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs