ตั้งแต่ วันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเริ่มปฏิบัติการชัตดาวน์กรุงเทพฯ โดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชา ธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะยึดพื้นที่ 7 แห่งที่สำคัญในกรุงเทพฯ ให้เป็นที่ตั้งเวทีชุมนุมใหญ่ ทั้งนี้ พื้นที่ที่ระบุนั้น 2 ใน 7 แห่ง อยู่ที่ย่านราชประสงค์และย่านปทุมวัน ซึ่งถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ด้วยเพราะในโซนนี้จะมีทั้งห้างร้านสรรพสินค้าชื่อดังมากมาย ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ต้องการมาเมื่อมาเมืองไทย ….แต่เมื่อมีการตั้งเวทีใหญ่ถึง 2 เวทีในบริเวณนี้ ทำให้เส้นทางการจราจรทางบกถูกปิดโดยสิ้นเชิง พร้อมกับที่มวลมหาประชาชน ได้ขยายพื้นที่การชุมนุมไปรอบด้าน อย่างไรก็ตาม การชัตดาวน์ในช่วงแรก ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวหวั่นเกรงนัก เห็นได้จากการปรับตัวของนักท่องเที่ยวต่าง ๆ บ้างก็เข้าร่วมม็อบ บ้างก็ยังชอปปิงในห้างได้ตามปกติ และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากการยืนยันของผู้ประกอบการในย่านเหล่านั้นว่า อัตราการเข้าพักยังมีอยู่เรื่อย อยู่ที่ประมาณ 80% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติหากเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา จนเมื่อวันที่  23 ม.ค. ที่รัฐบาลรักษาการได้ตัดสินใจ ออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่นักท่องเที่ยว และรัฐบาลจากทั่วโลกยังเห็นว่ามีความอหิงสาอยู่ กลับกลายเป็นไม่มั่นใจในเสถียรภาพความปลอดภัยของกรุงเทพฯ ไปแล้ว ดูได้จากรัฐบาลใน 49 ประเทศ ได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้นักท่องเที่ยวงดมากรุงเทพฯ ในช่วงเคอร์ฟิวนี้ไปก่อน ซึ่งการประกาศนี้กินระยะเวลาถึง 60 วัน กระนั้น 60 วันที่ประกาศ… ยังเป็นช่วงสำคัญของฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ด้วย และบวกกับปัจจัยด้านธุรกิจทัวร์ที่ว่า หากมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บริษัททัวร์จะไม่สามารถทำประกันภัยรับรองคุ้มครองนักท่องเที่ยวได้ จึงเป็นเหตุให้ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะย่านราชประสงค์ได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ ทั้งนักท่องเที่ยวหาย และรายได้จากคนไทยที่ต้องหดไป ไม่มั่นใจในเรื่องการเดินทางและความปลอดภัย ’จากข้อมูลของผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ พบว่า ตามปกติจะมีผู้มาใช้บริการมาใช้พื้นที่ในย่านนี้ประมาณ 150,000–200,000 คนต่อวัน แบ่งออกเป็นชาวไทย 50% และชาวต่างชาติ  50% โดยพื้นที่แบ่งออกเป็นบริเวณร้านค้า 600,000–700,000 ตร.ม. และ พื้นที่อาคารสำนักงาน 100,000 ตร.ม. แต่ในช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมห้องพักโรงแรมในละแวกจำนวน 4,000 ห้อง ลดเหลือ 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 85% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าในละแวกนี้ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด“ “รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์” รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงแรมในเครือที่ได้รับผลกระทบในย่านราชประสงค์ คือ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ บอกว่า หลังจากมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปนั้น ทำให้จนถึงสิ้นเดือน ก.พ. อัตราการเข้าพักเหลือเพียง 40% เท่านั้น จากปกติในช่วงไฮซีซั่น จะต้องมีอย่างต่ำ 70-80% และตราบใดที่ยังประกาศอยู่ก็ไม่น่าจะขยับดีขึ้นนัก ทำให้ขณะนี้ ฝ่ายการตลาดของโรงแรมค่อนข้างที่ต้องทำการบ้านหนักในการทำตลาด เบื้องต้นได้วางโปรโมชั่นเสริมเพิ่มเพื่อดึงดูด ความสนใจของลูกค้าไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มาใช้บริการในย่านราชประสงค์มากที่สุด คือ กลุ่มประชุมสัมมนา ที่หากกลุ่มใดมาใช้บริการสถานที่ในช่วงสถานการณ์ยังยืดเยื้อนี้ ตัวแทนผู้ติดต่อจะได้ค่าคอมมิสชั่นประมาณ 20% ขณะที่ “กมลวรรณ วิปุลากร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป บอกว่า การทำการตลาดในขณะนี้มุ่งเป้าหมายไปที่ โรงแรมในเครือที่อยู่ต่างจังหวัดก่อน โดยเฉพาะจีนและรัสเซียที่ยังเดินทางไปเที่ยวรอบนอกกรุงเทพฯ ทั้งนี้ก็ยังเชื่อว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นมากกว่านี้ แน่นอนว่า นักท่องเที่ยวที่อัดอั้นอยากมาประเทศไทย จะสามารถฟื้นตัวกลับได้เร็วทันทีทันใดแน่นอน หากมองไปที่ภาพใหญ่ ที่ต้องเป็นแม่เหล็กในการชาร์จพลัง กระตุ้นเศรษฐกิจในย่านนี้ คือกลุ่มผู้ประกอบการทุกภาคส่วนในพื้นที่แห่งนี้ ต้องเร่งอัดแคมเปญ แบบบิ๊ก อีเวนต์ ซึ่งขณะนี้เปิดตัวออกมาเป็นอันแรก คือ “ราชประสงค์ สตรีท เฟสติวัล” ที่จะผนึกกำลังออกร้านค้า พร้อมมอบส่วนลดพิเศษสูงสุดถึง 80% ในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ อาหาร และที่พัก พร้อมเตรียมเปิดตัวกิจกรรมการตลาดอื่น ๆ ตามมาอีกอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา 6 เดือน ไม่มากก็น้อย การเร่งเปิดตัวแคมเปญในลักษณะนี้ แม้อาจไม่ช่วยกระตุ้นด้านยอดขายได้มากนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นการเปิดภาพลักษณ์ของย่านนี้ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงความพร้อมในระดับหนึ่งแล้วที่จะยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาใช้บริการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังต่อจากนี้ คือ การที่บริษัททัวร์ต่าง ๆ จะใช้ข้อได้เปรียบจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อรองขอลดราคาโดยเฉพาะราคาของห้องพักที่อยู่ในย่านนี้ รวมถึงหากยังมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อ อาจจะมีบริษัททัวร์ต่าง ๆ ใช้โอกาสนี้ต่อรองได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน และต่อจากนี้ก็ต้องขึ้นอยู่ว่าแต่ละโรงแรมและย่านธุรกิจในราชประสงค์แห่งนี้ จะบริหารจัดการและปรับกลยุทธ์เพื่อพยุงสถานะของตัวเอง ชิงความได้เปรียบได้อย่างไร?. เอวิกานต์ บัวคง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ราชประสงค์งัดสารพัดแคมเปญกระตุ้นกำลังซื้อก่อนกู่ไม่กลับ

Posts related