ควันหลงจากการปรับราคาน้ำมันของคสช. เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา ผมอ่านในสื่อบางฉบับพบว่ายังมีคอลัมนิสต์บางคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การลดราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลงถึง ลิตรละ 3.89 บาท/ลิตร และขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 14 สต./ลิตร เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะเป็นการลดราคาน้ำมันให้คนรวย แต่กลับไปเพิ่มภาระให้คนจนต้องใช้น้ำมันแพงขึ้น ข้อวิพากษ์นี้ถ้าพูดลอย ๆ โดยไม่ได้ไปย้อนดูที่มาที่ไปของโครงสร้างราคาในอดีตก็น่าจะเห็นด้วย แต่ถ้าเราย้อนไปดูโครงสร้างราคาก่อนลดราคา เราจะพบว่าคนที่ใช้น้ำมันเบนซิน คือ กลุ่มคนที่ถูกเพิ่มภาษีสรรพสามิตและเงินเก็บเข้ากองทุนฯ มาโดยตลอด แม้แต่ก่อนลดราคาสองอาทิตย์คนใช้เบนซินก็ยังถูกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มจากลิตรละ 10 บาท เป็นลิตรละ 11.85 บาท ทั้ง ๆ ที่ควรจะได้ลดราคาตามกลไกตลาดก็ไม่ได้ลด ซึ่งเงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ นี้ ถ้านำเข้าเป็นรายได้ของรัฐ (เหมือนภาษีสรรพสามิต) เพื่อไปใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เป็นไร พอทำใจได้ แต่นี่กลับนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนให้คนใช้ก๊าซแอลพีจีได้ในราคาถูกกว่าต้นทุนที่แท้จริง และในบางครั้งก็ยังนำไปอุดหนุนคนใช้น้ำมันดีเซลให้ได้ใช้น้ำมันดีเซลในราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาทอีกด้วย ส่วนคนใช้น้ำมันดีเซลนั้น นอกจากได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ เป็นครั้งคราวแล้ว ยังไดัรับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากรัฐบาลมาเป็นเวลานานถึง 3 ปี 4 เดือนแล้ว โดยลดลงจากลิตรละ 5.31 บาท ลงเหลือเพียง 0.005 บาท/ลิตร (ลิตรละครึ่งสตางค์) ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปปีละ 1 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้น 360,000 ล้านบาท ดังนั้นการที่ คสช. ตัดสินใจปรับโครง สร้างราคาน้ำมันในครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการคืนความชอบธรรมให้กับผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์นั่นเอง เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับภาระภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันฯ ที่สูงแทนผู้ใช้กลุ่มอื่นมาโดยตลอด ส่วนการขึ้นราคาดีเซลเพียงลิตรละ 14 สต. นั้น จะนับว่าเป็นการขึ้นราคาก็คงพูดได้ไม่ถนัดปากนัก เพราะเป็นการปรับกลับไปใช้ราคาเดิมที่ไม่เกินเพดาน 30 บาท/ลิตร (29.99 บาท) ที่รัฐบาลตรึงราคามาเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือนแล้ว (คสช.เพิ่งจะมาลดราคาลงเหลือ 29.85 บาท/ลิตร เมื่อสองเดือนที่แล้วนี่เอง ซึ่งความจริงไม่ควรจะลดเลย) จึงไม่มีเหตุผลที่จะพูดว่าเป็นการขึ้นราคาแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงที่มาที่ไปและเหตุผลเพื่อความเป็นธรรมของผู้ใช้น้ำมันทุกกลุ่มแล้ว ผมเห็นว่าที่ คสช.ได้ตัดสินใจทำไปนั้นชอบแล้ว และที่ควรทำต่อเนื่องไปให้การปรับโครงสร้างราคามีความสมบูรณ์มากขึ้นก็คือการปรับราคาก๊าซแอลพีจีทั้งภาคครัวเรือนและขนส่งให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะในภาคขนส่ง ซึ่งขณะนี้เป็นภาคที่ได้เปรียบมากที่สุด ควรปรับราคาขึ้นโดยเร็วที่สุด อย่างน้อยขึ้นมาให้เท่ากับภาคครัวเรือนก่อนก็ยังดีครับ !!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ลดเบนซิน เพิ่มดีเซล : เพิ่มความ เหลื่อมล้ำจริงหรือ? – พลังงานรอบทิศ

Posts related