นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังรับฟังความเห็นประชาชน ถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว และโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ขนาด 870 เมกะวัตต์ จังหวัดกระบี่ ครั้งที่ 3 หรือ ค.3 ในวันที่ 12 ต.ค. ว่า ได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ 65 คน มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห็นด้วยทั้งนี้ กฟผ.ได้รวบรวมข้อมูลไว้ คาดว่าจะใช้เวลา2 3 เดือน นำผลสรุปจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 3 ครั้ง นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป เชื่อว่าจะเสร็จสิ้นภายในกลางปี 58 หากสวล.อนุมัติ คาดว่าการก่อสร้างจะเป็นไปตามเวลาที่กำหนด ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2010) ปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบได้ในปี 62“หลังจากเปิดรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ครั้งที่ 3 มีประชาชนเข้ามาฟัง มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และต้องการให้บรรจุความเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ด้วย ส่วนจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสวล. เราไม่สามารถไปก้าวก่ายได้ ซึ่งการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ เติบโตทุกปีเฉลี่ย 6% แต่การผลิตน้อยกว่าความต้องการ จึงต้องส่งไฟจากภาคกลาง ผ่านระบบส่งไปป้อนให้ เพื่อความมั่นคงและป้องกันไฟตกดับ ดังนั้นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม และการเลือกถ่านหินสะอาด เพราะมีค่าไฟฟ้าต่ำ หากเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น ๆ และมีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงที่ถ่านหินมีสำรองมาก”ขณะเดียวกันกฟผ.ยังเตรียมที่จะจัดเวทีกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยสาธารณะ (ค.1 ) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 ยูนิต ยูนิตละ 1,000 เมกะวัตต์ (โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด) และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลาวันที่ 2 พ.ย. 57 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลานอกจากนี้กฟผ. ยังส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ทับสะแก บนพื้นที่ 500 ไร่ที่จังหวัดประจวยคีรีขันธ์ เช่น แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้นแบบพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ขนาดแรงดัน 22 กิโลโวลต์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ,โครงการพัฒนาต้นแบบโรงไฟฟ้าระบบก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ บนพื้นที่ 250 ไร่ กำลังการผลิต 500 กิโลวัตต์ โดยจะนำหญ้าเนเปียร์วันละ 50 ตัน ป้อนเข้าสู่ระบบการผลิตก๊าซชีวภาพ และนำไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และโครงการพัฒนากังหันลมชริดแกนนอน กำลังการผลิต 250 กิโลวัตต์ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ 12-15% ของระบบรวม

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ลุ้นคลอดโรงงานไฟฟ้ากระบี่

Posts related