กลายเป็นข้อถกเถียงและถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง… กับสารพัดปัญหาในธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเฉพาะกลุ่ม หวังช่วยผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น    แต่ขณะนี้…วัตถุประสงค์ที่รัฐตั้งไว้ ดูเหมือนว่าทั้ง 2 แบงก์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีกต่อไป เพราะเพียงแค่ลำพังจะดำเนินกิจการให้เดินหน้าและมีกำไร ก็ยากเต็มทีหรือไม่ก็ทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป!  ด้วยเพราะการบริหารงานของทั้ง 2 แบงก์ ในอดีต เป็นการบริหารงานที่ขาดความเข้าใจและความระมัดระวังรวมทั้ง ถูกใช้เป็นเครื่องมือจากเหล่าผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะนักการเมือง ที่ต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง รวมไปถึงการสนองตอบนโยบายประชานิยมของรัฐบาลในแต่ละยุค ส่งผลให้การดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพและเกิดผลขาดทุน สุดท้ายต้องแบกรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล หลายหมื่นล้านบาทในแต่ละแห่ง  รอ รมว.คลังชี้ขาด    ปัญหานี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ “สมหมาย ภาษี” รมว.คลัง ต้องเข้ามาตัดสินชี้เป็นชี้ตายถึงสถานะของทั้ง 2 แบงก์ ให้เด็ดขาด ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะทั้ง 2 แบงก์ต้องส่งแผนฟื้นฟูให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด พิจารณาใหม่ ภายในเดือน พ.ย.นี้ มีเงื่อนไขว่าทั้งสองแห่งต้องจ้างบริษัทเอกชนที่ได้การรับรองตามมาตรฐานของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าทำการตรวจสอบฐานะทางการเงินใหม่ เพื่อให้ทั้ง 2 แบงก์ รับรู้รายได้จากตัวเลขจริงให้ง่ายต่อการแก้ไข  เจ๊งเพราะนักการเมือง  ต้องยอมรับว่าปัญหาที่หมักหมมมานานของแบงก์ทั้ง 2 แห่งนี้ เกิดจากการทุจริตช่วยพวกพ้อง จนทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เห็นได้จากจำนวนเอ็นพีแอลก้อนมหึมา รวมไปถึงผลขาดทุนสะสมสูง ซึ่งตัว “ขุนคลัง” ได้ยืนยันว่าไม่มีการนำเอสเอ็มอีแบงก์ ไปควบรวมกับธนาคารออมสิน แต่ต้องเดินหน้าผลักดันให้เอสเอ็มอีแบงก์อยู่รอดและเดินหน้าต่อไปให้ได้ เพราะเป็นสถาบันการเงินที่สำคัญกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเป็นแหล่งเงินทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี ขณะที่กรณีของไอแบงก์ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในขณะนี้ และทุกฝ่ายกำลังพิจารณาว่าควรยุบทิ้งหรือไม่?  เล็งขายหนี้ทิ้ง 2 หมื่นล.  สถานะเอสเอ็มอีแบงก์ มีหนี้เสียไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท หรืออยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 38-40% ของพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่หดตัวจาก 96,000 ล้านบาท เหลือ 88,000 ล้านบาท โดยได้ส่งแผนฟื้นฟูให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ที่มีแนวทางแก้ไขเอ็นพีแอล แบ่งเป็นการเตรียมขายหนี้ลูกหนี้ ที่ไม่ทำกิจการแล้วคิดเป็นมูลหนี้ 20,000 ล้านบาท ด้วยการขายหลักประกันออกไป ที่เหลือใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ การทวงหนี้รายย่อยก็จะใช้วิธีการจ้างบริษัทเอกชน   ทั้งนี้ลูกหนี้เอ็นพีแอล ที่เตรียมขาย 20,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างแยกสถานะลูกหนี้ ถ้าลูกหนี้รายใดที่มีหลักประกัน ต้องนำหลักประกันออกขาย ส่วนลูกหนี้ที่เป็นตามสินเชื่อนโยบายภาครัฐ หรือพีเอสเอ ที่มีอยู่ 10,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาว่ามีโครงการใดที่แยกบัญชีพีเอสเอไว้ ก็จะทำเรื่องขอเงินชดเชยต่อไป เช่น โครงการปล่อยกู้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยการเมือง กรณี เหตุการณ์ราชประสงค์ อุทกภัยขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อนโยบายรัฐที่ไม่ได้รับการชดเชย ได้แก่ สินเชื่อในโครงการไทยเข้มแข็ง, สินเชื่อชะลอการเลิกจ้าง  ไอแบงก์ขั้นโคม่า  ขณะที่สถานะของไอแบงก์ กำลังอยู่ในขั้นโคม่า เพราะเดือน ส.ค. 57 ปรากฏว่า มีลูกหนี้ตกชั้นถึง 7,000 ล้านบาท ทำให้ยอดหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 42,000 ล้านบาท หรือเป็น 38% ของสินเชื่อคงค้างที่ 110,000 ล้านบาท และหากยังปล่อยโดยไม่ดำเนินการใด ๆ อาจทำให้หนี้เสียเพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของยอดสินเชื่อคงค้างในช่วงสิ้นปีนี้ ที่สำคัญหากถึงขั้นร้ายแรง ยอดหนี้เสียอาจเพิ่มเป็น 80% หากพบว่ามีลูกหนี้รายใหญ่เบี้ยวการชำระหนี้คืน  ร้องนายกฯเร่งแก้  ล่าสุด! สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการไอแบงก์ เพื่อขอให้ทบทวนแผนการฟื้นฟูอย่างเข้มงวด เพราะการทำงานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการมีปัญหาหนี้เสียเรื้อรัง เป็นที่น่าผิดหวังสำหรับชาวมุสลิมในไทย และไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวมุสลิมได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจตามหลักศาสนาอิสลาม จึงแนะนำให้เน้นหลักการบริหารอย่างมีคุณธรรมตามหลักศาสนาอิสลาม  สศค.ย้ำยังจำเป็น  อย่างไรก็ตามในแง่ของการกำกับดูแลอย่าง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือ สศค. ยังเห็นว่า แบงก์รัฐ ยังมีความจำเป็นต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเอสเอ็มอีให้เข้าถึงประชาชน และการดูแลชาวอิสลาม ซึ่งการแก้ปัญหาแบงก์รัฐแต่ละแห่งที่มีปัญหา ต้องทบทวนพันธกิจแต่ละแห่งใหม่ ต้องกำหนดกรอบการทำธุรกิจให้ดูแลเฉพาะลูกค้าอิสลามเท่านั้น ที่ผ่านมากลับกลายเป็นว่าไปขยายสินเชื่อเกินขนาด ทั้งที่ไม่มีความพร้อม ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก แต่ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล    เบื้องต้น สศค.มีแนวคิดว่า อาจต้องตั้งคณะกรรมการ ที่มีตัวแทนจากคนนอกและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเข้ามาตรวจสอบและกำกับดูแลแบงก์รัฐเอง จากเดิมที่ผ่านมาจะให้ ธปท.ทำหน้าที่ตรวจสอบและรายงานมาให้ทราบเท่านั้น ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยให้การดำเนินงานของแบงก์รัฐ อยู่ในกรอบและตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งได้ดีกว่าที่ผ่านมาก็เป็นไปได้  ควบรวม-ยุบกิจการ  เชื่อว่าธนาคารทั้งสองแห่งจะสามารถรับรู้ฐานะทางการเงินที่แท้จริงก่อนสิ้นเดือน พ.ย.นี้ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของกระทรวงการคลังว่าจะให้ทั้ง 2 แบงก์นี้ดำเนินงานต่อไปหรือไม่ หากเป็นปัญหาเกินเยียวยา…คงหนีไม่พ้นให้แบงก์ที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาดูแล ด้วยการควบรวมกิจการ หรือหากแบงก์อื่นไม่ต้องการมีภาระเพิ่มเติม ก็อาจต้องยุบกิจการก็เป็นได้ เพราะหนี้เสียที่สะสมจำนวนมาก หากใช้วิธีเดิมด้วยการเติมเงินเข้าไปเสริมสภาพคล่อง คงไร้ผล!    ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแบงก์รัฐนี้ แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เชื่อว่า ณ เวลานี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี กับการที่จะล้างไพ่! เพิื่อให้ทุกอย่างกลับมาเดินหน้าต่อไปอย่างโปร่งใสและถูกครรลองครองธรรม และเป็นไปตามหน้าที่ของแบงก์รัฐอย่างถูกต้อง… วุฒิชัย มั่งคั่ง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ลุ้นชี้ชะตาธพว.-ไอแบงก์ ขายหนี้-ควบรวม-ยุบทิ้ง!

Posts related