ดูเหมือนว่าการตัดสินใจลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมาโดยลดลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% จะสามารถกระตุกต่อมให้บรรดานายแบงก์ยอมตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงได้สำเร็จ เพราะหลังจากที่ กนง.ได้ส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในโค้งสุดท้ายที่เหลือ วันรุ่งขึ้นนายแบงก์ก็ดาหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงกันในทันที โดยปรับลดลงทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก แม้ว่าตลอดทั้งปี 56 ที่ผ่านมากนง.จะมี “อัตตา” โดยยึดถือหลักในการตัดสิน คือใช้เครื่องมือการเงินอย่างรอบคอบ แม้ถูกบีบรัดบีบคั้นจากฝ่ายการเมืองมาโดยตลอดก็ตาม แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยักแย่ยักยัน ทำให้ กนง.ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่มาเป็นเสาค้ำยันให้กับเศรษฐกิจ ยามที่มาตรการการคลังดูจะทำงานได้ไม่เต็มที่นัก ซึ่งการตัดสินใจลดดอกเบี้ยในครั้งนี้…ต้องถือว่าเป็นการหักปากกาเซียนของหลายสำนักที่คาดกันว่า กนง.จะคงอัตราเหมือนเดิม ณ เวลานี้ กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มส่อแววริบหรี่หลุดเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3% เนื่องจากต้องเผชิญกับสารพัดความเสี่ยงทั้งความเสี่ยงในประเทศ และจากต่างประเทศที่เข้ามากระทบแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความเปราะบางของเศรษฐกิจหลักอย่าง เศรษฐกิจของสหรัฐ ที่ยังไม่ชัดเจนจากนโยบายการเงินและการคลัง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือคิวอี ส่งผลให้ภาวะตลาดการเงินโลกยังผันผวน ขณะที่ในกลุ่มยูโรก็ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทำให้การส่งออกไทยขยายตัวได้เพียง 1% ที่สำคัญที่สุด… คือปัญหาภายในประเทศอย่างสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ได้กลายเป็นตัวฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเดินก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้เอกชนมีความเชื่อมั่นลดลง เห็นได้จากการขอสินเชื่อของภาคเอกชนที่เคยเฟื่องฟูในระดับเลขสองหลัก กลับชะลอตัวเหลือเพียงแค่ 9% และแนวโน้มนี้ยังส่งต่อไปถึงปี 57 ที่คาดกันว่าสินเชื่อภาคเอกชนอาจขยายตัวได้เพียง 7% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้ กนง.จำนวน 6 คน ได้ตัดสินใจร่วมกันลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทนเครื่องมือทางด้านการคลัง ที่ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้ก้าวพ้นความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกได้ จึงเป็นหน้าที่ของภาคการเงินต้องเข้ามาพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยถดถอยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนที่ล่าช้า เป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในเมื่อ กนง.ได้ส่งสัญญาณเพื่อให้บรรดานายแบงก์ทั้งของรัฐและเอกชน ปรับลดดอกเบี้ยตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นช่องทางหนึ่งที่มีผลให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนปรนมากขึ้น ทั้งยังกระตุ้นให้ประชาชนและภาคเอกชนถอนเงินไปใช้จ่ายและลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจะส่งผลดีต่อประชาชน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ได้ผลอย่างรวดเร็ว เพราะบรรดานายแบงก์ก็ทยอยปรับลดดอกเบี้ยกันทันทีทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก นำร่องโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ แน่นอนว่าการปรับลดครั้งนี้ ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียตามมา เพราะดอกเบี้ยทั้งสองนั้น คือดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งความหมายชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ย่อมมีประโยชน์ในแบบฉบับของตัวเอง แล้วแต่การเลือกใช้งานของแต่ละประเภทเท่านั้นเอง เนื่องจากการลดดอกเบี้ย หากต้องการกู้เงินเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจหรือใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง จะช่วยลดภาระให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น หากมองถึงการกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย จะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ เนื่องจากดอกเบี้ยเมื่อได้คำนวณกับราคาที่อยู่อาศัยแล้ว จะเห็นได้ว่าปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ประชาชนที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง แบกรับภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายระยะยาวน้อยลง แตกต่างจากดอกเบี้ยออมทรัพย์ ที่ได้รับผลตอบแทนน้อยลง เนื่องจากที่ผ่านมาดอกเบี้ยออมทรัพย์ของธนาคารแต่ละแห่ง ก็มีอัตราที่แทบจะติดดินกันอยู่แล้ว ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ 0.75% ต่อปี แต่ขณะนี้เหลือเพียง 0.6250-0.6300% ต่อปีเท่านั้น และจากนี้ไปเชื่อว่าจะส่งผลให้ประชาชนเลือกที่จะออมทรัพย์ผ่านสถาบันการเงินลดลง หันไปเลือกใช้ความเสี่ยงในการลงทุนในส่วนอื่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงเรื่องของปริมาณเงินในระบบด้วย เพราะการลดดอกเบี้ยนโยบาย ถือว่าเป็นกระบวนการเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ที่สำคัญยังเป็นอีกเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมในระยะกลาง-ยาว ได้ หากเงินเฟ้อเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย จะสร้างสิ่งจูงใจแก่ผู้ประกอบการ แต่กลับกันหากเพิ่มมากจะสร้างความไม่แน่นอน ลามไปถึงระบบเศรษฐกิจ การครองชีพของประชาชน รวมถึงการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในที่สุด ดังนั้น…การตัดสินใจของ กนง.ในครั้งนี้ถือว่าทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อยู่บ้าง แต่การใช้เครื่องมือภาคการเงินอาจพยุงเศรษฐกิจไทย ลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยถดถอยได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น หากไทยยังต้องเผชิญกับสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานี้ที่ยังไม่มีใครบอกได้ว่าสุดท้ายแล้วทางออกของไทยจะอยู่ที่ใด!!. วุฒิชัย มั่งคั่ง
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ลุ้นดอกเบี้ยช่วยอุ้มเศรษฐกิจฝ่าการเมืองที่ยังไม่มีทางออก
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs