ผ่านพ้นไตรมาสแรกของปีม้า ใช่ว่า…มีแต่ข่าวคราวของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ที่หนีตาย ไม่ว่าจะเป็นการชะลอหรือปรับลดการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ แต่! เวลานี้ ได้เริ่มเห็นสัญญาณของผู้บริโภค…ที่กำลังหนีตายกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบรรดาผู้ที่จองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เริ่มมีอาการ ทั้งการทิ้งเงินดาวน์ ทั้งการเลื่อนการรับโอนในโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ยิ่ง…มีการทิ้งเงินจอง เลื่อนรับโอน หรือกระทั่งไม่รับโอนมากขึ้นเท่าใด ยิ่ง…เป็นสัญญาณอันตรายของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ทรุดลงไปได้ง่าย ๆ ทันที สิ่งเหล่านี้…ไม่ใช่สัญญาณใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น! แต่ทุกอย่างเป็นไปตามผลกระทบจากลูกโซ่ลูกแรก…มาสู่ลูกโซ่ลูกสุดท้าย ที่เริ่มต้นจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง การชุมนุมทางการเมืองที่ยาวนาน และไม่มีวี่แววว่าจะยุติโดยเร็ว ทำให้ทุกฝ่ายไม่มั่นใจ ไม่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้า การลงทุน โดยฟากฝั่งของนักลงทุนก็ไม่กล้าลงทุน ด้านผู้บริโภคก็ไม่กล้าซื้อของที่ต้องผูกพันระยะยาว ทำให้กำลังซื้อหดลง ขณะที่ผู้ประกอบการก็กล้า ๆ กลัว ๆ และส่วนใหญ่เลือกที่จะชะลอการลงทุนออกไปก่อน ยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่แล้ว กลับถดถอยลงไปอีก ท่ามกลางภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น จากค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ขณะที่รายได้ของประชาชนแม้จะมีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเข้ามาช่วย แต่สินค้า ค่าครองชีพสารพัดกลับแพงขึ้นมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น นั่นเท่ากับว่า ต้องใช้เงินมากขึ้น จึงมีผลทำให้ความสามารถในการชำระเงินลดลงไปด้วย ทำให้บรรดานายแบงก์ที่เคยเจ็บตัวหนักจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 ต้องเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น เพราะไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเข้าอีก เมื่อกู้เงินไม่ผ่าน… แถมยังหาช่องทางจากการขายทำกำไรจากใบจองซื้อคอนโดฯ ไม่ได้ ก็ต้องถอย!! ซึ่งขณะนี้คอนโดฯ ในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ เริ่มเกิดภาวะล้นตลาด และขายได้ยากขึ้น จากบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และราคาที่ดินปรับลดลงไปมาก หลังพ.ร.บ.เงินกู้ฯ 2 ล้านล้านบาทไม่ผ่าน แม้จะเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงไปมากแล้วก็ตาม ขณะที่ลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านอย่างแท้จริง ยังมีเหตุให้ต้องทิ้งเงินดาวน์ หรือขายใบจองไปบ้าง เพราะกู้เงินธนาคารไม่ผ่าน บางกลุ่ม..ผ่อนดาวน์ไม่ไหวจริง ๆ จากสภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง ทำให้ผู้ซื้อเริ่มมีปัญหาการใช้จ่ายเกิดขึ้น แม้เวลานี้หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินยังไม่เพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องดี แต่…จากนี้ไปเกรงว่าสภาพคล่องในระบบอาจเริ่มมีปัญหา! แม้ว่าปัญหาการทิ้งเงินดาวน์ อาจยังไม่น่าเป็นห่วงมากนักในช่วงที่ผ่านมา เพราะส่วนใหญ่การซื้อคอนโดฯ ยังเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงสัดส่วนสูงถึง 60% แต่ภาวะตลาดปัจจุบัน ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะผู้ที่ซื้อเพื่ออาศัยจริงนั้น ชะลอการซื้อออกไป ขณะที่ในส่วนของนักเก็งกำไรสัดส่วน 20% แทบล้มหายตายจาก เห็นได้จากไตรมาสแรกที่ผ่านมา แทบขายใบจองไม่ออก ซึ่งมีบางส่วนที่รับซื้อไว้เอง แต่บางส่วนก็ทิ้งเงินดาวน์ไป โดยเฉพาะโครงการที่รับวางดาวน์ต่ำ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เวลาก่อสร้างนาน รวมทั้งโครงการที่มีแคมเปญลด แลก แจก แถมมากเกินไป หรือราคาไม่สูงนัก และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าระดับล่าง ที่มีราคาขายต่ำกว่าตารางวาละ 60,000 บาท แต่อีกส่วนหนึ่งนั้น ไม่ได้เกิดจากพิษความวุ่นวายทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เพราะมีสินค้าเข้าสู่ตลาดจำนวนมากด้วยในปี 56 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น แต่ท้ายที่สุด หน่วยเหลือขาย ที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้นั้น จะกลับมาเป็นของผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระการขายต่อไป สัญญาณที่ชัดเจนทยอยส่งออกมา ตั้งแต่จำนวนลูกค้าที่เข้าเยี่ยมชมโครงการบ้าน คอนโดฯ น้อยลงไปเรื่อย ๆ บางพื้นที่ บางประเภทโครงการแทบจะไม่มีผู้เข้าชม ส่งผลให้ยอดจองซื้อใหม่ กลับลดลงอย่างมาก การจัดกิจกรรมก็น้อยลงไปด้วย เพราะทำไปก็สูญเปล่า ในเมื่อผู้บริโภคไม่มีอารมณ์จะซื้อ ที่สำคัญ เมื่อถึงวันที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ แต่ลูกค้าที่หวั่นไหวกับรายได้ในอนาคตโดยเฉพาะนักเก็งกำไรคอนโดฯ ก็ชะลอการโอน หรือทิ้งเงินดาวน์ ไม่ยอมโอน ทำให้เจ้าของโครงการไม่ได้รับเงินตามแผน เรียกได้ว่า… วันนี้ “วิกฤติการเมือง” กระทบธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ยอดขาย รายได้ การจ้างงาน และย้อนกลับมามีผลกับยอดขายอีกรอบแล้ว และปัญหายอดจองสูง แต่ยอดโอนต่ำ เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ประกอบการปรับเพิ่มสัดส่วนเงินดาวน์ให้สูงขึ้นเท่าตัว จากเดิมที่ดาวน์ต่ำเพียง 5% ของราคาห้องชุด เพิ่มเป็น 10-30% เพื่อป้องกันปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ กว่าระบบนี้จะเข้าที่คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่ระหว่างนี้ ลูกค้าต้องจ่ายเงินดาวน์มากขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ตลาดคอนโดฯ ซึ่งปัจจุบันแข่งขันกันรุนแรงอยู่แล้ว และหลายทำเลเริ่มล้นตลาด ชะลอตัวเพิ่มขึ้นอีก เพราะลูกค้าจำนวนมากยังมีรายได้ค่อนข้างจำกัด ไม่สามารถแบกรับภาระเงินดาวน์ที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เจ้าของโครงการทำได้ดีที่สุดในเวลานี้ นั่นคือ ต้องสำรองเงินสดไว้ พร้อมทั้งเตรียมหาแหล่งเงินทุนสำรอง ชะลอการซื้อที่ดินแปลงใหม่ออกไป หรือซื้อเฉพาะที่จำเป็น ปรับแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ และก่อสร้างเฉพาะในส่วนที่มีคำสั่งซื้อแล้วก่อนเท่านั้น ส่วนรายเล็กคงต้องหยุดกิจการชั่วคราวไปก่อน แม้ว่าขณะนี้ภาวะทางเศรษฐกิจไทยจะยังแข็งแรงดีอยู่ แต่หากยังต้องอยู่นิ่ง ๆ แบบนี้ไปอีก 4-5 เดือน ก็เชื่อว่า จะบั่นทอนทำให้ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่สะสมไว้นั้นจะค่อย ๆ หายไป ค่อย ๆ อ่อนแอลงเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจบริหารงานเต็มร้อยเข้ามาบริหารงาน. ณัฐธินี มณีวรรณ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ลูกค้าแห่ทิ้งใบจองคอนโดฯ ลางร้าย!อสังหาริมทรัพย์ไทย
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs