แม้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จะผ่านไปแล้วหลายปี แต่การดำเนินการในการจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ยังคงมีอย่างต่อเนื่องเพราะ..ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด ต่างให้ความสำคัญกับแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ และยอมรับว่าข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และครอบคลุม ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจ…ล่าสุด…สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ปฏิบัติภารกิจแล้วเสร็จไปอีกขั้น ด้วยการเปิดตัว “ศูนย์บริการข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ในภาวะฉุกเฉิน” แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย“ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บอกว่า  ที่ผ่านมาการประมวลสถานการณ์และให้บริการข้อมูลน้ำต้องอาศัยระบบสื่อสาร เพื่อรับ-ส่งข้อมูล แต่เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน การสื่อสารจะถูกตัดขาดจากส่วนกลาง  ทำให้การแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉินทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สสนก. จึงพัฒนาศูนย์บริการข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ในภาวะฉุกเฉินขึ้น  เพื่อบริหารความเสี่ยงดังกล่าวโดยเป็นส่วนหนึ่งของ “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าภูมิใจในผลงานของคนไทย ที่สามารถพัฒนาเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำไปพร้อม ๆ กับการบริหารจัดการเพื่อการเกษตร และมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับความสามารถของศูนย์บริการข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ในภาวะฉุกเฉินนี้ “ดร.รอยล จิตรดอน” ผู้อำนวยการ สสนก. บอกว่า  เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ปฏิบัติงานได้ในทุกสถานการณ์ ด้วยระบบสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียมตัวศูนย์เคลื่อนที่ฯ  ประกอบด้วยรถพ่วง 4  ส่วน  ส่วนแรกคือ รถหัวลากขนาดใหญ่ ส่วนที่สองคือ ห้องปฏิบัติการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงที่รองรับข้อมูลได้มากกว่า 30 เทอราไบต์ หรือเท่ากับ ดีวีดี 6,500 แผ่นส่วนที่สามคือ ตู้ระบบหล่อเย็นของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง  และสุดท้ายคือตู้ระบบไฟสำรองที่ทันสมัย เทียบเท่าระบบของสนามบินสุวรรณภูมิ  โดยใช้เครื่องกำเนิด ควบคู่กับเทคโนโลยีไฟล์วีล (Flywheel technology) ที่มีน้ำหนักเบา ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ และประหยัดพลังงาน ในกรณีที่ไฟฟ้าดับสามารถทำงานได้ต่อเนื่องถึง 8 ชั่วโมงนอกจากนี้ยังมีระบบกล้องวงจรปิดรอบตู้ 15 ตัว มีระบบควบคุมการเข้า-ออก และระบบดับเพลิงอัตโนมัติและเมื่อต้องปฏิบัติภารกิจ ในพื้นที่บัญชาการ เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างเช่น เกิดเหตุการณ์อุทกภัยในระดับ 3  (เกือบรุนแรง) ขึ้นไป ศูนย์แห่งนี้ยังมีหน่วยสนับสนุน   อย่างชุดสำรวจเคลื่อนที่เร็วทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ที่จะสำรวจข้อมูลภาคสนามเพิ่มเติมเพื่อให้การประมวลผลแม่นยำและรวดเร็วขึ้นโดยชุดเคลื่อนที่เร็วนั้น จะมีทั้งรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ลุยน้ำได้สูงถึง 80 เซนติเมตร และติดตั้งระบบทำแผนที่ระดับความสูงภูมิประเทศแบบเคลื่อนที่หรือ MMS เพื่อวัดความสูงของระดับถนน คันกั้นน้ำ แบบอัตโนมัติขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว  60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรือตรวจการณ์  ติดตั้งอุปกรณ์วัดความลึกท้องน้ำด้วยคลื่นเสียงพร้อมระบบจีพีเอส  ประมวลผลอัตโนมัติ  และเครื่องบินสำรวจอัตโนมัติขนาดเล็ก ติดตั้งกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งดร.รอยล บอกว่า หากอยู่ในภาวะปกติ ศูนย์นี้จะใช้เป็นระบบสำเนาข้อมูล สำหรับฐานข้อมูลน้ำระดับชาติ สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ  โดยประจำการอยู่บริเวณอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุทยานวิทยา ศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานีการพัฒนาศูนย์เคลื่อนที่แห่งนี้ รวมทั้งชุดสนับสนุนการสำรวจเคลื่อนที่เร็วทั้งหมด  ดร.รอยล บอกว่า ใช้งบไปประมาณ 110 ล้านบาทส่วนการพัฒนาคลังข้อมูลน้ำฯ ในระยะต่อไป ก็คือการนำเข้าข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลน้ำในเขตเมือง ที่นอกเหนือไปจากกรุงเทพมหานครคาดว่าอีก 2 ปี ประเทศไทยจะมีคลังข้อมูลน้ำฯ ที่สมบูรณ์ !!!. นาตยา คชินทรnattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ศูนย์ข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ฯ แห่งแรกในเอเชีย – ฉลาดคิด

Posts related