ถูกขนานนามให้เป็น “เสือ กระดาษ” มาทุกยุคทุกสมัย สำหรับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. แม้ว่าผลงานที่ผ่านมาจะสร้างความหวือหวาช่วยเรียกความสนใจให้กับคนในสังคม โดยเฉพาะการตรวจพบการขายสินค้าและบริการหลายประเภทที่ผู้ประกอบการคิดราคาไว้แพงเกินจริง แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถกำหนดบทลงโทษกับผู้ที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้ เพราะในมือกลับไม่มีข้อกฎหมายใด ๆ มาเอาผิดได้ ที่ผ่านมาต้องยืมมือของหน่วยงานรัฐที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงมาช่วยลงดาบ ทั้ง “กรมการค้าภายใน” ที่มีกฎหมายฟันผู้ประกอบการขายของแพง หรือ “กรมการขนส่งทางบก” ที่มีกฎหมายควบคุมผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ ขณะที่ สคบ. เองมีบทบาทเพียงแค่ตรวจพบ รับเรื่องร้องทุกข์ ก่อนส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปจัดการ ส่วนกฎหมายที่มีอยู่ก็แค่เพียง “จิ๊บจ๊อย” เช่น กำกับดูแลเรื่องการควบคุมโฆษณา รวมทั้งการเข้มงวดให้ผู้ประกอบการแสดงฉลากสินค้าให้ถูกต้อง ที่เข้มงวดหน่อยก็เพียงธุรกิจขายตรงที่มีข้อบังคับให้มาจดทะเบียนกับ สคบ. ก่อนทำธุรกิจเท่านั้น ทำให้ตอนนี้หลายคนกลับมาคิดว่า แท้จริงแล้วบทบาทของสคบ. น่าจะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การรับเรื่องร้องทุกข์ ตรวจเจอคนเอาเปรียบ สืบหาข้อเท็จจริง เชิญผู้ร้องและผู้ถูกร้องเข้ามาชี้แจง จนกระทั่งสุดท้ายหากพบว่าทำผิดหรือเอาเปรียบกับผู้บริโภคจริง ก็มีกฎหมายลงโทษอย่างชัดเจนทันที แต่ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะคงต้องมาแก้กฎหมายอีกบานตะเกียง อย่างน้อย ๆ ก็กินเวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี หากจะเริ่มต้นแก้กฎหมายแบบจริงจัง ยิ่งในอนาคตการเปิดประชาคมอาเซียนกำลังจะเปิดเต็มรูปแบบ ก็ยิ่งบีบให้ สคบ. ต้องเพิ่มบทบาทให้เข้มข้นขึ้น เพราะต้องดูแลผู้บริโภคทั่วภูมิภาค อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ในช่วงที่ “จิรชัย มูลทองโร่ย” นั่งเป็นเลขาธิการ สคบ. ก็ใช่ว่าจะไม่รู้ถึงปัญหาดังกล่าว เพราะตอนนั้นได้วางแนวทางแก้ไขไว้ โดยร่างแผนแม่บทการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติซึ่ง กินเวลาตั้งแต่ปี 56–60 โดยถือเป็นแผนแรกที่จะรวบรวมการทำงานของหน่วยงานทั้งหมดที่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ เข้ามาดูแลผู้บริโภคร่วมกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องใดมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วกว่าขั้นตอนตามปกติ ซึ่งกินเวลานานมาก ตามแผนฯ ได้แบ่งยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกลไกคุ้มครองผู้บริโภค, ยุทธศาสตร์การให้ความรู้ผู้ประกอบการ และประชาชน, ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแนวทางการจัดการปัญหา และการตรวจสอบข้อเท็จจริง, ยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค และยุทธศาสตร์การประสานความเป็นเลิศ ซึ่งในแต่ละยุทธศาสตร์จะบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีข้อกฎหมาย ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับชัดเจนเป็นกล่องเดียว ผ่านการประสานงานของ สคบ. ในมิติใหม่ แต่แผนดังกล่าวก็เป็นอันต้องพับไป เมื่อผู้ใหญ่ที่ดูแลรับผิดชอบกลับไม่ได้นำแผนดังกล่าว ซึ่ง สคบ. ประแป้งแต่งตัวไว้สวยงาม รอเพียงเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. อนุมัติ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้แผนนี้ค้างเติ่งโดยไม่มีคนมาสานต่อ ขณะเดียวกันในช่วงปลายปีก่อน นายจิรชัย ก็ยังถูกเด้งไปเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีแบบไม่ทันตั้งตัวอีก ส่งผลให้งานเดิมที่กำลังเดินหน้าอยู่ขาดช่วง ไม่สามารถเดินหน้าได้ต่อเนื่อง จึงทำให้งานของ สคบ. ที่เห็นอยู่ตอนนี้ไม่แตกต่างจากในอดีต เพราะเมื่อถึงเวลาช่วงเทศกาลโน้น เทศกาลนี้ที ก็ลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งนึง เจอปัญหาก็แก้ แต่ไม่ได้ล้อมคอกกันผู้ประกอบการที่จ้องเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลาเอาไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้เรื่องทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องที่รุนแรงอะไร เพราะยังสามารถแก้ไขกันได้ โดยที่ผ่านมาคนของ สคบ. หลายคนก็เคยให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ถ้ามองในแง่ดี แม้ว่า สคบ. จะมีอำนาจไม่เบ็ดเสร็จ เพราะต้องยืมมือหน่วยงานหลายหน่วยงานมาช่วยเหลือ ทั้งที่ก่อนหน้าที่ สคบ. ไม่น่าจะเป็นแค่หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนหรือมีกฎหมายที่จะดำเนินการฟ้องร้องแทนผู้บริโภคเพียงไม่กี่คดี แต่ทุกเรื่องที่เกิดขึ้น โดยมี สคบ. เป็นผู้เริ่มต้น ก็ถือเป็นการจุดประกายเรื่องราวให้สังคมได้รับรู้ว่ามีการเอาเปรียบเรื่องนี้จริง ผู้บริโภคก็ได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกเอาเปรียบ และที่สำคัญ ผู้บริโภคจะได้รับทราบถึงสิทธิของตัวเอง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ส่วนการจะไปแก้กฎหมายอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่พร้อมจะให้ความสำคัญกับกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่ เพราะทุกวันนี้สถานการณ์หลายอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วตามเทคโนโลยี ดังนั้นการไล่เช็กบิลกับผู้กระทำความผิด เอาเปรียบ สารพัดกับผู้บริโภคก็ต้องเข้มงวดขึ้น ไม่อย่างนั้นอีกสิบปีก็มีคนเรียก สคบ. เหมือนเดิมว่า … “เสือกระดาษ”!!! อยู่วันยังค่ำ. ทีมเศรษฐกิจ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สคบ.ไร้อำนาจเบ็ดเสร็จ หนีไม่พ้น…เสือกระดาษ
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs