รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลสำรวจข้อมูลศักยภาพพื้นฐานระบบโลจิสติกส์การค้า ปี 56 โดยสุ่มตัวอย่างจากสถานประกอบการธุรกิจการค้า 13,607 แห่ง ทั่วประเทศ ยกเว้น ธุรกิจซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และแผงลอย พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออก ได้ร้องเรียนถึงการดำเนินพิธีการศุลกากรของภาครัฐ โดยเฉพาะปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงานมากที่สุดถึง 74.6% รองลงมาเป็นเรื่องข้อกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ความซ้ำซ้อนของกระบวนการ และสุดท้ายคือเรื่องความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่ ซึ่งภาครัฐต้องเร่งแก้ไข สำหรับภาพรวมของการสำรวจข้อมูลครั้งนี้ พบว่า สถานประกอบการทั่วประเทศมีบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ งานด้านโลจิสติกส์อยู่ถึง 196,150 คน หรือคิดเป็น 23.2% ของจำนวนบุคลากรทั้งหมดกว่า 846,8128 คน แบ่งเป็น พนักงานหรือลูกจ้างรายเดือน 148,058 คน และพนักงานหรือลูกจ้างรายวัน 48,092 คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับต่ำกว่า ปวช.ทั้งสิ้น โดยเฉพาะพนักงานจัดส่งและพนักงานคลังสินค้า ที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ปวช.สูงถึง 50% ขณะที่การจัดการงานด้านโลจิสติกส์ของสถานประกอบการนั้น จากการสำรวจ พบสถานประกอบการมากกว่า 60% ดำเนินกิกรรมด้านโลจิสติกส์เอง ส่วนสถานประกอบการที่ว่าจ้างผู้ประกอบการภายนอกให้นั้น ส่วนใหญ่จะให้ดำเนินงานเรื่องของการจัดส่งสินค้า การจัดการคลังสินค้า และพิธีศุลกากร ซึ่งถือเป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ในการดำเนินงาน นอกจากนี้ในเรื่องของความต้องการที่จะให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นว่า ต้องการให้รัฐจัดให้มีการฝึกอบรม และให้ความรู้ด้านโลจิสติกส์แก่บุคลากร พัฒนาระบบและอุปกรณ์ด้านโลจิสติกส์ และจัดหาผู้ที่เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา อย่างไรก็ตามในด้นการลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือด้านโลจิสติกส์ และเทคโนโลยีเพื่อจัดการระบบโลจิสติกส์นั้น พบว่า มีสถานประกอบการเพียง 20% เท่านั้นที่ลงทุนในอุปกรณ์ โดยส่วนใหญ่มีสัดส่วนลงทุนน้อยกว่า 10% ส่วนการลงทุนด้านการใช้เทคโนโลยี พบว่า มีสถานประกอบการเพียง 16.4% ลงทุนในเรื่องดังกล่าว โดยสถานประกอบการในกลุ่มนี้ มีสัดส่วนลงทุนในซอฟต์แวร์ด้านโลจิสติกส์น้อยกว่า 10% และหากพิจารณาการลงทุนในฮาร์ดแวร์ด้านโลจิสติกส์ พบว่า ส่วนใหญ่เลือกลงทุนเรื่องดังกล่าวน้อยกว่า 10% เช่นเดียวกัน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สสช.พบปัญหาด่านศุลกากรอื้อซ่า

Posts related