ประเทศไทยมีการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการติดตามและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติมากว่า 30 ปี โดยมีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมที่ลาดกระบัง ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นสถานีรับสัญญาณดาวเทียมสำรวจโลกเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของประเทศในปี 2551 ซึ่งดาวเทียมดวงนี้ภายหลังได้รับพระราชทานนามว่าดาวเทียมไทยโชติ ซึ่งได้ปฏิิบัติภารกิจสำรวจโลก ให้กับประเทศไทย ร่วมกับดาวเทียมของต่างประเทศ อีกกว่า 20 ดวง ที่ไทยรับสัญญาณมาใช้งานอยู่ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้กับประโยชน์ของเทคโนโลยีดาวเทียม ที่ปัจจุบันหลายหน่วยงานรวมถึงภาครัฐต่างให้ความสนใจโดยเฉพาะการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมในการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งนำมาแก้ไขปัญหาทั้ง น้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง หมอกควันรวมถึงการใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)หรือจิสด้า บอกว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันผู้ใช้งานมีความต้องการข้อมูลที่หลากหลาย ทันต่อเหตุการณ์ และง่ายต่อการเข้าถึง ทำให้ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 ขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา เอดับเบิ้ลยูอาร์ ลอยด์ ศึกษาถึงความเป็นไปได้และจัดทำแผนธุรกิจของโครงการดังกล่าว ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าเทคโนโลยีดาว เทียมที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากร การถ่ายทอดองค์ความรู้ ความถี่ในการถ่ายภาพและไม่สามารถถ่ายภาพผ่านเมฆได้ ทำให้มีการเสนอระบบดาวเทียมในระยะที่ 2 นี้ ควรที่จะมีการพัฒนาอย่างครบวงจร ในระยะยาว และมีการพัฒนาด้านบุคลากรรองรับ ส่วนประเด็นที่ว่าไทยควรจะมีการจัดสร้างดาวเทียมดวงที่ 2 เป็นของตัวเองหรือไม่ ผอ.จิสด้า บอกว่า แม้บริษัทที่ปรึกษาจะเสนอว่า ไทยควรจะมีดาวเทียมเป็นของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงด้านข้อมูล และสามารถใช้ต่อรองกับประเทศอื่น ๆได้มากกว่าที่จะเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวนั้น ในมุมมองของตนเองแล้ว การต่อรองกับประเทศต่าง ๆ นั้นไม่จำเป็นที่ไทยจะต้องมีดาวเทียมเป็นของตนเองก็ได้ สิ่งที่สำคัญคือการนำมาใช้งานมากกว่า เพราะว่าปัจจุบันไม่มีดาวเทียมดวงใดที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานได้หมดภายใน ดวงเดียว ซึ่งต้องอาศัยการเข้าถึงและเชื่อมโยงดาวเทียมอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติหลากหลาย โดยปัจจุบันไทยรับข้อมูลดาวเทียมจากในและต่างประเทศ รวม 24 ดวง และคาดว่า อนาคต 10 ปีข้างหน้าจะต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับดาวเทียมอื่น ๆ อีกกว่า 100 ดวงทีเดียว อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญของโครงการนี้ คือ การเน้นตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด โดยครอบคลุมภารกิจสำคัญของประเทศไทยทั้ง 5 ด้านคือ ด้านการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติ ด้านการเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการวางแผนพัฒนาและจัดการพื้นที่เมืองและระบบโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงและการทหาร รวมถึงการใช้งานด้านสุขภาพอนามัยต่าง ๆ เช่น การเตือนหมอกควันต่าง ๆ สำหรับโครงการดังกล่าว หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว สภาพัฒน์ ฯ จะเป็นผู้พิจารณาศึกษาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ไทยจะต้องเสียงบมหาศาลในการสร้างดาวเทียมดวงที่ 2 หรือว่าเลือกพัฒนาแค่ระบบรับสัญญาณดาวเทียมจากทั่วโลก แล้วนำมาใช้งาน ต้นปีหน้า … ลุ้นกันอีกที!!!. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศระยะที่ 2 – ฉลาดคิด

Posts related