ต้องยอมรับว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน ซับซ้อน และลุกลามจนกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ เมื่อมีการรวมกลุ่มก้อนกันเป็นอาเซียนและกำลังจะรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการปลายปี  2558 ประเทศใดประเทศหนึ่งจึงไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้โดยลำพัง “สิทธิมนุษยชน” หมายถึง สิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หรือ แจกให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้ สิทธิดังกล่าวนี้มีความเป็นสากลและเป็นนิรันดร์ จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งยกร่างโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ภายใต้องค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยสหประชาชาติได้มีมติรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 โดยในข้อ 1 กล่าวว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ” คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ AICHR (The ASEAN Intergovernmental Commission  on Human Rights) จึงมีการจัดประชุมตัวแทนจากกลุ่มประเทศสมาชิกครั้งที่ 15 ขึ้นล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี ฯพณฯ อู จ่อ ติน สี เป็นประธาน ซึ่งมีการหารือร่วมกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียน คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน และเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา การประชุมครั้งนี้มีการหาแนวทางเพื่อวางกรอบการดำเนินงานและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2015 รวมทั้งเวิร์กช็อปที่จะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-4 กรกฎาคม ณ กรุงฮานอยของเวียดนาม และการวางข้อกำหนดสำหรับการประชุมที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 27-28 มิถุนายน โดยรายงานฉบับสมบูรณ์นั้นจะเสนอเข้าพิจารณาระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะมีการวางแนวทางการปฏิบัติและทิศทางที่จะเกิดขึ้นสำหรับปี 2558 ด้วย ซึ่งต่างมุ่งเน้นไปที่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลของอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยหัวข้อที่ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องของสิทธิสตรี ซึ่งจะมีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมั่นคง AICHR เป็นองค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามข้อ 14 ของกฎบัตรอาเซียน เพื่อปฏิบัติภารกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคตามขอบเขต อำนาจหน้าที่ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 โดยคณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศละ 1 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้ไม่เกินอีก 1 วาระ ทำงานโดยมีการเชื่อมโยงประเด็นของ 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กฎบัตรอาเซียน และตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งในส่วนของการทำงานกระบวนการ เน้นการเจรจา การทำความเข้าใจ ตีความหมาย ขยายความ และสร้างบริบทที่สอดคล้องกับอาเซียน การสร้างความครอบคลุม ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดเรื่องการสร้างความจำเพาะเจาะจงของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือความใหม่ นอกจากนั้นก็จะต้องเป็นประเด็นที่เป็นฉันทามติร่วมของประเทศสมาชิกทั้งหมด โดยมีการใช้เทคนิควิธีต่าง ๆ ทั้งการโอ้โลม ปฏิโลม การทำงานร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่มีความเห็นร่วมกัน โดยมีหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งรวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในหมู่ประชาชน ให้คำปรึกษาและเสริมสร้างศักยภาพของภาครัฐ การพัฒนาบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค การขอรับข้อมูลจากประเทศสมาชิกรวมทั้งการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียและองค์กรระดับชาติระดับภูมิภาคและระดับโลกเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนทำการศึกษาและทำรายงานประเด็นสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ทว่ากลไกหลักในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ยังต้องปฏิบัติงานภายใต้เงื่อนไขของลักษณะเฉพาะของประเทศและภูมิภาค การเคารพซึ่งกันและกันในเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศาสนาที่แตกต่างกัน และการคำนึงถึงความสมดุลระหว่างสิทธิและหน้าที่ ซึ่งแม้จะมีการจัดประชุมทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มีภาพที่ชัดเจน ขณะที่ห้วงเวลาการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็งวดเข้ามาทุกที.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สิทธิมนุษยชนอาเซียน…สิทธิที่ยังคลุมเครือ

Posts related