ณ วันนี้ กระแสของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 50% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เมื่อ 5 ปีก่อน เป็น 80% ของจีดีพี ในปีนี้ ยังกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันในสังคมไทยว่า เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงหรือไม่ จนถึงขนาดที่ถกเถียงกันไปถึงคำนิยมของ “หนี้ครัวเรือน” ที่แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ ? ต้องยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเพราะการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรกดเงินสด ที่ถือเป็นการยืมเงินอนาคตมาใช้สนองความต้องการ โดยคนไทยเริ่มรู้จักสินเชื่อประเภทนี้มาตั้งแต่ปี 55 และได้รับความนิยมมากขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งจนถึงเวลานี้ปรากฏว่ามียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 251,000 ล้านบาท และมียอดบัญชีสูงถึง 9.88 ล้านบัญชี “สุดาพร จันทร์วัฒนากุล” ในฐานะประธานชมรมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บอกกับ “เดลินิวส์” ว่า แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคล หรือ ธุรกิจบัตรกดเงินสด จะขยายตัวในเลขสองหลักแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อีก 5-6 ปี แตกต่างจากสินเชื่อบัตรเครดิตที่เริ่มเห็นสัญญาณอิ่มตัว ขณะที่บัตรกดเงินสดกำลังได้รับความนิยม เพราะเงื่อนไขที่กำหนดให้ลูกค้ามีรายได้เริ่มต้น 8,000 บาท ทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อประเภทนี้ได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มตลาดล่าง แม้ว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัตรเครดิตก็ตาม ทั้งนี้การเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นไม่ได้เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ แต่จะสวนทางกับเศรษฐกิจเพราะคนต้องการเงินสดในมือมากขึ้น หรืออาจมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง หรือเงินทุนหมุนเวียนที่ต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ต้องนำเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็มั่นใจว่าทุกฝ่าย ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. บรรดานอนแบงก์ และสถาบันการเงินต่าง ๆ จะสามารถรองรับปัญหานี้ได้และไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจซ้ำรอยแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็พบว่าสินเชื่อบุคคลเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียทั้งการปรับฐานเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 10,000 บาท และตรวจสอบประวัติมากขึ้น หลังจากเริ่มเห็นปัญหา โดยมองว่าทั้งปี 56 นี้น่าจะมียอดปล่อยสินเชื่อรวม 278,000 ล้านบาท “สุดาพร” บอกว่า เวลานี้เริ่มเห็นสัญญาณการค้างชำระและการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ 5,000-10,000 บาท เริ่มมีปัญหามากขึ้น และลูกค้าบางรายมีพฤติกรรมขอสินเชื่อหลายสถาบันการเงินเพื่อนำมาโปะหนี้หรือชำระหนี้อีกสถาบันหนึ่ง อย่างไรก็ดีในแง่ของบริษัท บัตรกรุงไทย นั้น ยืนยันว่า เวลานี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะบริษัทได้คัดกรองลูกค้าที่่มีรายได้ขั้นต่ำ 10,000 บาทขึ้นไป รวมทั้งได้ตรวจข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า รายได้ต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน หากพบว่าลูกค้ามีรายจ่ายสูงเกินกว่า 80% ของรายได้รวมทั้งหมดจะปฏิเสธการให้สินเชื่อทันที โดยยอดอนุมัติสินเชื่อในไตรมาส 3 ลดลงเหลือ 30% จากที่ไตรมาส 2 อนุมัติไป 33% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสถาบันการเงินอื่น ๆ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติด ตามในระยะต่อไป คือ ความไม่สงบทางการเมือง คดีเขาพระวิหาร พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย และอาจส่งผลให้หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้น แต่หากทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี เชื่อว่าการดำรงชีวิตประจำวันและภาพรวมทางเศรษฐกิจยังเติบโตได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ก็ต้องขอฝากไว้ว่า ก่อนก่อหนี้ทุกครั้ง ลูกค้าต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองด้วย เพื่อที่จะไม่สร้างภาระให้กับตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วหากปัญหาก่อหนี้หากภาระหนี้เกิดการหมักหมมต่อไปเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน !. ภัทราภรณ์ พลายเถื่อน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สินเชื่อบุคคลพุ่งสวนเศรษฐกิจ มั่นใจแบงก์-เอกชน ‘เอาอยู่’

Posts related